วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

1.ความหมายและความแตกต่างระหว่างกฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชน

ความหมายและความแตกต่างระหว่างกฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชน

ความหมายของกฎหมายมหาชน

กฎหมายมหาชน ได้แก่ ?กฎหมายที่กล่าวกำหนดถึงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับ สถานะและอำนาจ ของรัฐและผู้ปกครอง รวมทั้งกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและผู้ปกครองกับพลเมืองผู้อยู่ใต้ปกครอง ในฐานะที่รัฐและผู้ปกครองมีเอกสิทธิ์ทางปกครองเหนือพลเมืองซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเอกชน
ความแตกต่างของกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชน

1) ความแตกต่างขององค์กรหรือตัวบุคคลที่เข้าไปมีนิติสัมพันธ์ กล่าวคือ ในกฎหมายมหาชน องค์การหรือบุคคลที่เข้าไปมีนิติสัมพันธ์ คือ รัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายหนึ่ง กับเอกชนอีกฝ่ายหนึ่ง แต่กรณีของกฎหมายเอกชน ตัวบุคคลที่เข้าไปทำนิติสัมพันธ์คือ เอกชน กับ เอกชน

2) ความแตกต่างทางด้านเนื้อหาและความมุ่งหมาย กฎหมายมหาชนมีจุดมุ่งหมายเพื่อสาธารณประโยชน์ และการให้บริการสาธารณะ โดยไม่ได้มุ่งหวังในเรื่องกำไร ส่วนกฎหมายเอกชนนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของเอกชนแต่ละคน แต่บางกรณีซึ่งเป็นข้อยกเว้น? เอกชนก็อาจทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้ เช่น การตั้งมูลนิธิ หรือ สมาคมเพื่อการกุศล และสาธารณประโยชน์

3) ความแตกต่างทางด้านรูปแบบของนิติสัมพันธ์ กล่าวคือ กฎหมายมหาชนมีลักษณะเป็นการบังคับและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะปรากฎออกมาเป็นรูปคำสั่งหรือข้อห้ามที่เรียกว่าการกระทำฝ่ายเดียว อันเป็นการกระทำซึ่งฝ่ายปกครองสามารถกำหนดหน้าที่ทางกฎหมายให้กับอีกฝ่ายหนึ่งโดยที่เอกชนไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย ส่วนกฎหมายเอกชนนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักความเสมอภาค หลักความเป็นอิสระในการแสดงเจตนาและเสรีภาพในการทำสัญญา ซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะบังคับฝ่ายเดียวโดยปราศจากความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้

4) ความแตกต่างทางด้านนิติวิธี กล่าวคือ วิธีคิดวิเคราะห์ปัญหาทางกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนจะแตกต่างกัน นิติวิธีของกฎหมายมหาชนจะไม่นำหลักกฎหมายเอกชนมาใช้โดยตรงกับปัญหาทางกฎหมายมหาชน แต่จะสร้างหลักของกฎหมายมหาชนขึ้นมาใช้เพื่อแก้ไขเยียวยาปัญหานั้น ส่วนนิติวิธีทางกฎหมายเอกชนนั้น จะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนและมุ่งรักษาประโยชน์ของเอกชนด้วยกัน

5) ความแตกต่างทางด้านนิติปรัชญา กล่าวคือ นิติปรัชญากฎหมายมหาชนนั้น มุ่งประสานประโยชน์สาธารณะกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แต่นิติปรัชญากฎหมายเอกชน เน้นความที่ความเท่าเทียมกันและตั้งอยู่บนหลักเสรีภาพรวมทั้งความสมัครใจของคู่กรณี

6) ความแตกต่างในเรื่องเขตอำนาจศาล กล่าวคือ ข้อพิพาททางกฎหมายมหาชนจะขึ้นสู่การพิจารณาวินิจฉัยของศาลพิเศษ ได้แก่ ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อพิพาทตามกฎหมายเอกชนจะขึ้นสู่การพิจารณาวินิจฉัยของศาลยุติธรรม ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลอาญา

ไม่มีความคิดเห็น: