วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

LW102หลักกฎหมายเอกชน(Principle of Private Law)

ข้อ 1. จงอธิบายหลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายมาโดยละเอียดและครบถ้วน


แนวคำตอบ หลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายแพ่งได้มีการกำหนดไว้ในมาตรา 4 วรรค 2 ดังนี้คือ เมื่อมีคดีหรือข้อพิพาทเกิดขึ้น แต่ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ ให้ศาลวินิจฉัยตามลำดับดังนี้

1. ให้นำจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นมาใช้แทน

2. ในกรณีที่ไม่มีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นให้นำบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาเทียบเคียงเพื่อใช้แทน

3. ในกรณีที่ไม่สามารถหากฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาเทียบเคียงได้อีกให้นำหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้แทน

ดังนั้นเมื่อเกิดช่องว่างแห่งกฎหมายขึ้น ศาลต้องใช้หลักในการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายตามขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้เพื่อวินิจฉัยคดีที่เกิดขึ้นเท่านั้นจะยกฟ้องโดยอ้างเหตุว่าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่จะนำมาวินิจฉัยไม่ได้



ข้อ 2. นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกันคือนายหนึ่ง วันที่ 1 มกราคม 2550 นายไก่และนางไข่ไปเที่ยวที่เกาะสิมิลัน ระหว่างทางการเดินทางกลับภูเก็ตเรือเจอพายุอับปาง ทำให้มีคนบาดเจ็บล้มตายและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก ในวันที่ 5 มกราคม 2550 นายไก่โทรมาหานายหนึ่งว่าติดเกาะ เล็ก ๆ ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน หลังจากนั้นนายหนึ่งก็ไม่ได้รับข่าวและไม่มีใครพบเห็นตัวนายไก่และนางไข่อีกเลย

1) นายหนึ่งจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่และนางไข่เป็นคนสาบสูญได้หรือไม่

2) ถ้าได้นายหนึ่งจะไปร้องขอต่อศาลได้เมื่อใดจงอธิบาย

แนวคำตอบ หลักกฎหมาย มาตรา 61

1) หนึ่งจะร้องขอต่อศาลให้สั่งให้นายไก่และนางไข่เป็นคนสาบสูญได้เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมคือ เป็นผู้สืบสันดาน

2) ในกรณีนายไก่เป็นกรณีธรรมดา จะครบกำหนด 5 ปี 5 มกราคม 2555 ไปศาลได้ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2555

ส่วนนางไข่นั้นอยู่ในเหตุการณ์ที่มีการตายเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 เป็นกรณีพิเศษ ครบ 2 ปี 1 มกราคม 2552 ไปศาลได้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2552



ข้อ 3. บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทำนิติกรรมจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

1) นายไก่คนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากนายห่านผู้อนุบาลให้สมรสกับนางไข่ซึ่งมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์เท่ากัน การสมรสมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

2) นายดินคนวิกลจริตไปซื้อโทรทัศน์จากร้านนายน้ำในขณะกำลังวิกลจริต แต่นายน้ำไม่ทราบว่านายดินวิกลจริต สัญญาซื้อขายโทรทัศน์มีผลในทางกฎหมายอย่างไร

3) นายลมคนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมช้างไปลากซุง 2 เชือก โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ การให้ยืมมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

4) เด็กชายเพชรรับเงินจากเศรษฐีใจบุญนั่งแจกเงินคนจนกลางสนามหลวงมา 20,000 บาท การรับการแจกเงินมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

แนวคำตอบ หลักกฎหมาย มาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 1449, มาตรา 30, มาตรา 34, มาตรา 22

1) คนไร้ความสามารถสมรส ผลเป็นโมฆะ (มาตรา 29, 1499)

2) คนวิกลจริตซื้อโทรทัศน์ขณะกำลังวิกลจริต แต่ผู้ขายไม่ทราบว่าวิกลจริต ผลของสัญญาซื้อขายสมบูรณ์ (มาตรา 30)

3) คนเสมือนไร้ความสามารถให้เพื่อนยืมช้างไปลากซุง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ ผลเป็นโมฆียะ (มาตรา 34(3))

4) ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมได้โดยลำพัง ถ้าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิโดยไม่มีเงื่อนไข เด็กชายเพชรสามารถรับเงินจากเศรษฐีใจบุญได้ และมีผลสมบูรณ์ (มาตรา 22)



ข้อ 4. จงบอกลักษณะสำคัญของกฎหมายโดยครบถ้วนพร้อมยกตัวอย่างประกอบด้วย

แนวคำตอบ ลักษณะสำคัญของกฎหมายมีอยู่ 5 ประการ คือ

1. ต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับให้บุคคลกระทำหรืองดเว้นกระทำ

2. เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับของผู้มีอำนาจหรือเป็นใหญ่ในรัฐนั้น

3. เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้เสมอไปจนกว่าจะมีการประกาศยกเลิก

4. เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไปกับทุกคนที่อยู่ภายใต้กฎหมาย

5. หากไม่ปฏิบัติตามจะมีสภาพบังคับคือมีการลงโทษทั้งทางแพ่งหรือทางอาญา

หมายเหตุ คะแนนให้ตามความสามารถของการอธิบายของนักศึกษาประกอบ



ข้อ 5. ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง จงอธิบาย พร้อมยกตัวอย่างประกอบคำอธิบาย เน้น 1) ผู้มีส่วนได้เสีย 2) วันครบกำหนด 3) วันที่จะไปศาล

แนวคำตอบ หลักกฎหมาย มาตรา 61 ...........

1. บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่

2. ไม่มีใครได้รับข่าว หรือพบเห็นตัว ติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี นับแต่

วันรบ หรือสงครามสิ้นสุดลง หรือ

วันที่ยานพาหนะซึ่งบุคคลนั้นโดยสารไป อับปาง สูญหาย ฯลฯ หรือ

บุคคลนั้นไปอยู่ในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งซึ่งมีการตายเกิดขึ้น

ตัวอย่างเช่น นายไก่และนางไข่ เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย นายไก่โดยสารเรือไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2540 เพื่อไปประเทศจีน เรือเกิดอับปางตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2540 มีคนสูญหายล้มตายไปหลายคน รวมทั้งนายไก่ด้วย นางไข่ในฐานะภริยาชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีส่วนได้เสีย สามารถไปร้องขอต่อศาลได้ในวันที่ 6 มกราคม 2542 เพราะจะครบกำหนด 2 ปี คือวันที่ 5 มกราคม 2542



ข้อ 6. ผู้เยาว์คือใคร มีความสามารถในการทำนิติกรรมอย่างไรบ้างตามมาตรา 21 มาตรา 22, 23, 24, 25 จงอธิบาย

แนวคำตอบ หลักกฎหมาย มาตรา 19, 21, 22, 23, 24, 25 .....

ผู้เยาว์ คือ ผู้ที่อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ไม่ว่ากรณีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมจดทะเบียนสมรส หรืออายุต่ำกว่า 17 ปี มีเหตุอันสมควร ศาลอนุญาตให้ไปจดทะเบียนสมรส

หลัก ผู้เยาว์ทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน ถ้าฝ่าฝืนผลจะเป็นโมฆียะ

ข้อยกเว้น ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมได้โดยลำพัง และมีผลสมบูรณ์ 4 กรณี คือ

1) ถ้าผู้ได้มาซึ่งสิทธิ หรือหลุดพ้นจากหน้าที่โดยไม่มีเงื่อนไข

2) เป็นเรื่องที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว

3) ทำสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตตามควรแก่ฐานานุรูป

4) ทำพินัยกรรมเมื่อมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์

ข้อ 7. จงบอกลักษณะสำคัญของกฎหมายโดยครบถ้วนพร้อมยกตัวอย่างประกอบด้วย

แนวคำตอบ ลักษณะสำคัญของกฎหมายมีอยู่ 5 ประการ คือ

6. ต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับให้บุคคลกระทำหรืองดเว้นกระทำ

7. เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับของผู้มีอำนาจหรือเป็นใหญ่ในรัฐนั้น

8. เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้เสมอไปจนกว่าจะมีการประกาศยกเลิก

9. เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไปกับทุกคนที่อยู่ภายใต้กฎหมาย

10. หากไม่ปฏิบัติตามจะมีสภาพบังคับคือมีการลงโทษทั้งทางแพ่งหรือทางอาญา

หมายเหตุ คะแนนให้ตามความสามารถของการอธิบายของนักศึกษาประกอบ



ข้อ 8. ศาลจะสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญกรณีพิเศษจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง จงอธิบาย พร้อมยกตัวอย่างประกอบคำอธิบาย เน้น 1) ผู้มีส่วนได้เสีย 2) วันครบกำหนด 3) วันที่จะไปศาล

แนวคำตอบ หลักกฎหมาย มาตรา 61 ...........

3. บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่

4. ไม่มีใครได้รับข่าว หรือพบเห็นตัว ติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี นับแต่

วันรบ หรือสงครามสิ้นสุดลง หรือ

วันที่ยานพาหนะซึ่งบุคคลนั้นโดยสารไป อับปาง สูญหาย ฯลฯ หรือ

บุคคลนั้นไปอยู่ในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งซึ่งมีการตายเกิดขึ้น

ตัวอย่างเช่น นายไก่และนางไข่ เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย นายไก่โดยสารเรือไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2540 เพื่อไปประเทศจีน เรือเกิดอับปางตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2540 มีคนสูญหายล้มตายไปหลายคน รวมทั้งนายไก่ด้วย นางไข่ในฐานะภริยาชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้มีส่วนได้เสีย สามารถไปร้องขอต่อศาลได้ในวันที่ 6 มกราคม 2542 เพราะจะครบกำหนด 2 ปี คือวันที่ 5 มกราคม 2542



ข้อ 9. ผู้เยาว์คือใคร มีความสามารถในการทำนิติกรรมอย่างไรบ้างตามมาตรา 21 มาตรา 22, 23, 24, 25 จงอธิบาย

แนวคำตอบ หลักกฎหมาย มาตรา 19, 21, 22, 23, 24, 25 .....

ผู้เยาว์ คือ ผู้ที่อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ไม่ว่ากรณีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมจดทะเบียนสมรส หรืออายุต่ำกว่า 17 ปี มีเหตุอันสมควร ศาลอนุญาตให้ไปจดทะเบียนสมรส

หลัก ผู้เยาว์ทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน ถ้าฝ่าฝืนผลจะเป็นโมฆียะ

ข้อยกเว้น ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมได้โดยลำพัง และมีผลสมบูรณ์ 4 กรณี คือ

5) ถ้าผู้ได้มาซึ่งสิทธิ หรือหลุดพ้นจากหน้าที่โดยไม่มีเงื่อนไข

6) เป็นเรื่องที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว

7) ทำสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตตามควรแก่ฐานานุรูป

8) ทำพินัยกรรมเมื่อมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์

LW101หลักกฎหมายมหาชน (Principle of Public Law)

ข้อ 1. รัฐธรรมนูญคือ กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นกติกาการปกครองของรัฐ กลไกการใช้อำนาจรัฐฝ่ายต่าง ๆ ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ


กติกา หรือกฎเกณฑ์ที่เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศมีทั้งดีและไม่ดี มีทั้งที่เป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ และรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ซึ่งหากกติกาหรือกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการปกครองประเทศเป็นกติกาที่ไม่ดี กำหนดตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจจัดให้มีรัฐธรรมนูญ ก็ควรต้องแก้ไขกติกาหรือกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายนั้น

จึงขอให้นักศึกษาอธิบายหลักเกณฑ์และขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 291 มาโดยละเอียดและให้ยกตัวอย่างมาตราที่ควรแก้ไขมา 3 มาตรา

แนวคำตอบ

ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กำหนดหลักการในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการแก้ไขแบบง่ายโดยมีหลักเกณฑ์ขั้นตอนการแก้ไขกำหนดไว้ในมาตรา 291 บัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 291 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้

(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้

(2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

(3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(4) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย

การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตราให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

(5) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

(6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(7) เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ตัวอย่างมาตราที่ควรแก้ไข เช่น ม. 309, ม. 237, ม. 122





ข้อ 2. จงอธิบายอย่างละเอียดว่าการปกครองของไทยในทุกระดับกับกฎหมายมหาชนมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

แนวคำตอบ - กฎหมายมหาชนได้แก่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

- กฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติอำนาจในการปกครองประเทศ ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ

- กฎหมายปกครองไม่มีชื่อกฎหมายปกครองโดยตรง แต่อยู่ในชื่ออื่น เช่น พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชกำหนด หรือประมวลประมวลกฎหมาย

- ลักษณะของกฎหมายปกครองไม่ว่าจะอยู่ในชื่อใดบัญญัติหลักการเดียวกันคือบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองให้แก่หน่วยงานทางปกครองหรือแก่เจ้าหน้าที่ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 หรือพระราชบัญญัติอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณเจ็ดร้อยกว่าฉบับ

- อำนาจหน้าที่ในทางปกครอง เช่น การออกกฎ การออกคำสั่ง หรือการกระทำทางปกครองฯ

- จะเห็นว่ากฎหมายมหาชนมีความสัมพันธ์กับการปกครองในทุกระดับ



ข้อ 3. นักศึกษาสามารถให้เหตุผลได้หรือไม่ว่า...

ก. เหตุใดจึงไม่นำหลักกฎหมายเอกชนมาใช้กับหลักกฎหมายมหาชน

ข. เหตุใดจึงมีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้น

จงอธิบายสาเหตุทั้งสองประการโดยละเอียด

แนวคำตอบ - เหตุที่ไม่นำมาใช้ เพราะกฎหมายเอกชน กับ กฎหมายมหาชน มีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ นักศึกษาระบุลักษณะแห่งความแตกต่างดังกล่าวได้ อาทิ เนื้อหา, รูปแบบ, นิติวิธี, องค์กรที่ใช้อำนาจ, ฐานะของคู่กรณี, ความไม่เสมอภาค เป็นต้น

- เหตุที่มีการจัดตั้งศาลปกครอง นอกจากการที่มีกฎหมายระบุไว้โดยชัดเจนตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ.2540 จนกระทั่งฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2550 นศ.อธิบายที่มาเชิงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของระบบศาลคู่ได้ อาจมีการยกตัวอย่างกรณีประเทศฝรั่งเศสประกอบ และกรณีของไทย จากคณะกรรมการกฤษฎีกา สู่การพัฒนามาเป็นศาลปกครองในที่สุด

LA205(LW209)กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้

ข้อ 1. นายจันทร์ขายที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส.3) ของตนแปลงหนึ่งให้นายอังคาร ในราคา 8 แสนบาท และนายจันทร์ได้ส่งมอบให้นายอังคารพร้อมกับรับชำระราคา นายอังคารอยู่ในที่แปลงนี้มาได้ 6 เดือน นายจันทร์ยังนำที่แปลงนี้ไปจดทะเบียนโอนขายให้นายพุธในราคา 1 ล้านบาทอีก นายพุธซื้อโดยสุจริต และจดทะเบียนโดยสุจริต หลังจากนั้นอีก 2 วัน นายอังคารถูกนายพุธฟ้องขับไล่


ดังนี้ ถ้านายอังคารมาถามท่านว่า นายอังคารมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้หรือไม่ ท่านจะให้คำตอบนายอังคารอย่างไร เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย มาตรา 456 วรรค 1 และมาตรา 1378

สัญญาระหว่างนายจันทร์กับนายอังคารเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด คู่สัญญาหาได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะ ถือว่าสัญญาเป็นอันไม่มีไม่เกิด และคู่สัญญาย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามมาตรา 456 วรรค 1 (12 คะแนน) แต่ที่ดิน นส.3 เป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง นายจันทร์ส่งมอบที่ดินแปลงนี้ให้นายอังคารเป็นการโอนไปซึ่งการครอบครอง นายอังคารย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครอง นายอังคารย่อมมีสิทธิในที่ดินแปลงนี้ ตามมาตรา 1378 (13 คะแนน)



ข้อ 2. แสงประมูลซื้อเครื่องถ่ายเอกสารของเสียง จากการทอดตลาดจำนวนสี่เครื่อง ราคาเครื่องละ 50,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่านายเสียงผู้ขายไม่รับผิดในความชำรุดบกพร่องและการรอนสิทธิในเครื่องถ่ายเอกสารทั้งหมด เมื่อประมูลได้แล้วเสียงจึงจัดการส่งเครื่องถ่ายเอกสารทั้งหมดไปให้แสง แต่ขณะส่งของคนงานของเสียงได้ทำเครื่องถ่ายเอกสารเครื่องหนึ่งชำรุด อีกเครื่องหนึ่งสี่ได้นำเจ้าพนักงานตำรวจมายึดคืนไปโดยเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งว่าเป็นของที่ถูกขโมยมาจากร้านของสี่ แล้วนำมาขายต่อให้เสียงโดยเสียงเองก็ไม่รู้ และเสียงได้นำมาทอดตลาด แสงจึงได้รับเฉพาะเครื่องถ่ายเอกสารเพียงสองเครื่อง ส่วนเครื่องที่ชำรุด แสงจะให้คนงานของเสียงกลับไปเปลี่ยนเอาเครื่องใหม่มาแทนได้หรือไม่ และแสงจะเรียกร้องเสียงในเครื่องที่ถูก เจ้าพนักงานตำรวจยึดคืนไปได้เพียงใด

แนวคำตอบ มาตรา 483, มาตรา 484, มาตรา 485, มาตรา 473 (3)

แสงประมูลซื้อเครื่องถ่ายเอกสารของเสียง จากการทอดตลาดจำนวนสี่เครื่อง ราคาเครื่องละ 50,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่านายเสียงผู้ขายไม่รับผิดในความชำรุดบกพร่องและการรอนสิทธิในเครื่องถ่ายเอกสารทั้งหมด เมื่อประมูลได้แล้วจึงจัดการส่งไปให้แสง แต่ขณะส่งของ คนงานของเสียงได้ทำเครื่องถ่ายเอกสารเครื่องหนึ่งชำรุด ในกรณีความชำรุดบกพร่องแม้มีข้อตกลงยกเว้นความรับผิด แต่เป็นการที่ผู้ขายหรือตัวแทนของผู้ขายได้กระทำไปเองซึ่งยังต้องรับผิดตามมาตรา 485 แต่เนื่องจากเป็นการขายทอดตลาด ผู้ขายจึงไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่อง แต่เรียกร้องให้รับผิดในการส่งมอบทรัพย์ไม่เป็นไปตามสภาพในเวลาที่จะส่งมอบตาม ม. 32391 ถ้าทรัพย์สินนั้นขายทอดตลาด ตามมาตรา 473 (3)

ส่วนเครื่องถ่ายเอกสารอีกเครื่องหนึ่ง สี่ได้นำเจ้าพนักงานตำรวจมายึดคืนไปโดยเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งว่าเป็นของที่ถูกขโมยมาจากร้านของสี่ นายแสงจึงถูกรอนสิทธิ เมื่อมีข้อตกลงยกเว้นความรับผิดไว้ตามมาตรา 483 และไม่เข้าตามมาตรา 485 เสียงจึงไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิต่อนายแสง ดังนั้น แสงให้คนงานของเสียงกลับไปเปลี่ยนเอาเครื่องใหม่มาแทนไม่ได้ จะเรียกร้องให้รับผิดในความชำรุดบกพร่องของทรัพย์ไม่ได้ตาม 473 (3) แต่เรียกร้องให้รับผิดตาม ม. 323 ว.1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และจะเรียกร้องให้เสียงรับผิดในเครื่องที่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดคืนไปก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะสัญญาซื้อขายมีข้อตกลงให้ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิ และเสียงผู้ขายก็ไม่ทราบถึงการรอนสิทธินั้นๆ แต่ไม่คุ้มผู้ขายให้ส่งเงินคืนตามราคา มาตรา 1484



ข้อ 3. อาทิตย์ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงหนึ่งของอาทิตย์ไว้กับจันทร์ ในทะเบียนได้ระบุให้พุธเป็นผู้มีสิทธิไถ่คืน ต่อมาทั้งจันทร์และพุธตาย ศุกร์ซึ่งเป็นทายาทคนเดียวของพุธได้นำเงินสินไถ่ทั้งหมดมาไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนกับพฤหัส ซึ่งเป็นทายาทคนเดียวของจันทร์เช่นกัน ในขณะที่กำหนดเวลาไถ่คืนยังไม่สิ้นสุด แต่พฤหัสไม่ยอมรับอ้างว่าศุกร์ไม่มีสิทธิไถ่ทรัพย์คืน ศุกร์จึงได้นำเงินค่าสินไถ่ไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ ก่อนที่จะพ้นกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่วางไว้ ศุกร์จะไถ่ที่ดินแปลงนี้คืนได้หรือไม่ กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ได้โอนมายังศุกร์แล้วหรือยัง

แนวคำตอบ มาตรา 492 มาตรา 497 มาตรา 498

อาทิตย์ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินแปลงหนึ่งของอาทิตย์ไว้กับจันทร์ ในทะเบียนได้ระบุให้พุธเป็นผู้มีสิทธิไถ่คืน พุธจึงเป็นผู้มีสิทธิไถ่คืนมาตรา 497 (3) เมื่อพุธตาย สิทธิไถ่จึงตกไปยังทายาทของพุธคือศุกร์ ตามกฎหมายมรดกเพราะสิทธิไถ่เป็นสิทธิที่ตกทอดมรดกได้ เมื่อศุกร์นำสินไถ่ทั้งหมดมาไถ่ที่ดินคืนภายในกำหนดเวลาไถ่ ศุกร์จึงมีสิทธิไถ่ต่อพฤหัสซึ่งเป็นทายาทของจันทร์ตามมาตรา 478 (1) พฤหัสจึงต้องยอมให้ศุกร์ไถ่ที่ดินแปลงนั้นคืน พฤหัสจะไม่ยอมรับไถ่โดยอ้างว่าศุกร์ไม่มีสิทธิไถ่ทรัพย์คืนไม่ได้ และเมื่อศุกร์ได้นำเงินค่าสินไถ่ไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ก่อนที่จะพ้นกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่วาง กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ได้โอนมายังศุกร์แล้วโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 492

LA202(LW205)กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

ข้อ 1. สินทำสัญญาขายที่ดินแปลงหนึ่งของตนให้แก่ทรัพย์ โดยตกลงกันว่าจะจดทะเบียนโอนในวันที่ 30 กันยายน 2551 แต่เนื่องจากบนที่ดินแปลงนี้มีบุคคลอื่นเข้ามาปลูกเพิงพักอาศัยอยู่ 5 ครอบรัว สินกับทรัพย์จึงตกลงกันว่า สินจะต้องจัดการให้ครอบครัวดังกล่าวย้ายออกไปจากที่ดินภายในวันที่ 29 กันยายน 2551 ปรากฏว่า สินได้จัดการให้ครอบครัวดังกล่าวย้ายออกไปตามกำหนดแล้ว โดยต้องจ่ายค่าขนย้ายและค่ารื้อถอนให้รวม 120,000 บาท เงินจำนวนนี้ สินต้องกู้มาจากธนาคาร เสียดอกเบี้ยร้อยละ 11 ต่อปี ครั้นวันที่ 30 กันยายน 2551 ทรัพย์กลับผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงนี้จากสินเพราะเห็นว่าราคาแพงเกินไป สินจึงมาปรึกษานักศึกษาว่าจะฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจำนวน 120,000 บาทที่เสียไปเป็นค่าขนย้ายและรื้อถอนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี และเรียกค่าเสียหายจากการที่ทรัพย์ประพฤติผิดสัญญาไม่ยอมรับโอนที่ดินด้วยอีก 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นักศึกษาจะให้คำปรึกษาแก่สินว่า สินจะสามารถเรียกค่าเสียหายกับดอกเบี้ยดังกล่าวได้หรือไม่ และด้วยเหตุผลอย่างไร


แนวคำตอบ

ค่าเสียหาย 120,000 บาทนั้นเรียกได้เพราะเป็นค่าเสียหายที่ตามปกติย่อมเกิดจากการไม่ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 222 วรรคหนึ่ง ส่วนดอกเบี้ยร้อยละ 11 ต่อปีนั้นเรียกไม่ได้ เพราะไม่ใช่ค่าเสียหายที่ตามปกติย่อมเกิดจากการไม่ชำระหนี้ แต่ถือว่าเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าทรัพย์ได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้า ตามมาตรา 222 วรรคสอง สินจึงเรียกดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวไม่ได้ อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นหนี้เงิน สินยังสามารถเรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ส่วนค่าเสียหายที่ทรัพย์ผิดสัญญา 50,000 บาทนั้น สินเรียกได้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 222 วรรคหนึ่ง, 224 วรรคหนึ่ง (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 12523/2547 และที่ 1336/2545)



ข้อ 2. ดวงเช่าปั๊มน้ำมันของดาว เพื่อดำเนินกิจการขายน้ำมันเชื้อเพลิง มีกำหนดเวลา 10 ปี แต่มีข้อตกลงว่า ดวงจะต้องเป็นผู้ออกใช้ซ่อมแซมการชำรุดเสียหายทุกชนิดที่เกิดขึ้นแก่ปั๊มน้ำมันตลอดเวลาที่เช่า ต่อมาในระหว่างการเช่า จันทน์ขับรถบรรทุกด้วยความประมาทเลินเล่อชนเสาค้ำหลังคาปั๊มน้ำมัน เป็นเหตุให้เสาและหลังคาได้รับความเสียหายจนดาวต้องซ่อมแซมเสียค่าใช้จ่ายไป 200,000 บาท และต่อมาดวงได้ชดใช้ค่าซ่อมแซมดังกล่าวแก่ดาวแล้ว ดวงจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวจากจันทน์ จันทน์ต่อสู้ว่า ดวงเป็นเพียงผู้เช่า ไม่ใช่เจ้าของปั๊มน้ำมันผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของตน ดวงจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของจันทน์รับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

แม้ว่าปั๊มน้ำมันที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจันทน์จะเป็นของดาว แต่เนื่องจากตามสัญญาเช่าที่ตกลงกันให้เป็นหน้าที่ของดวงที่จะต้องเป็นผู้ออกใช้ค่าซ่อมแซมการชำรุดเสียหายที่เกิดขึ้นทุกชนิด เมื่อดวงได้ชดใช้ค่าซ่อมแซมดังกล่าวแก่ดาวไปแล้ว จึงถือได้ว่าดาวได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ดวงในฐานะลูกหนี้จึงได้เข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของดาวเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 227 ดวงจึงมีอำนาจฟ้องจันทน์ได้ (เทียบตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2522)



ข้อ 3. จันทร์ (ผู้จะซื้อ) ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินหนึ่งแปลงกับอังคาร (ผู้จะขาย) ในราคาหนึ่งล้านบาท เพื่อใช้ปลูกสร้างบ้านพักอาศัย หลังทำสัญญาเสร็จปรากฏว่าอังคารกลับเอาที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่พุธเสีย ในราคาสองล้านบาท โดยพุธรู้อยู่แล้วว่าอังคารได้ทำสัญญาจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวไว้แก่จันทร์ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าอังคารมีทรัพย์อื่นอีกมากมายประมาณห้าล้านบาท ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า จันทร์จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวแก่พุธได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย ป.พ.พ.มาตรา 237 วรรคแรก

กรณีตามปัญหา เป็นเรื่องการทำสัญญาจะซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะไม่อาจใช้ทรัพย์อื่นมาโอนแทนได้ เมื่ออังคารนำที่ดินไปโอนให้พุธ ถือว่าจันทร์เสียเปรียบทันที โดยไม่ต้องพิจารณาว่าอังคารจะมีทรัพย์สินอื่นพอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เมื่อครบองค์ประกอบอื่น ๆ ของมาตรา 237 วรรคแรก จันทร์จึงร้องขอให้ศาลเพิกถอนได้



ข้อ 4. ก. และ ข.เป็นเจ้าหนี้ร่วม ให้ ค. กู้เงินไป สองแสนบาท เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ ค. ได้นำเงิน สองแสนบาท ไปขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อ ก.เพียงผู้เดียว โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ ก.ปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ โดยอ้างว่า ก.ต้องการได้รับดอกเบี้ยต่อไป ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ใครตกเป็นผู้ผิดนัด เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย ป.พ.พ.มาตรา 207, มาตรา 299 วรรคแรก

กรณีตามปัญหา ก. ตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัดตามมาตรา 207 และมีผลทำให้ ข. เจ้าหนี้ร่วมอีกคนหนึ่งตกเป็นเจ้าหนี้ผิดนัดด้วย ตามมาตรา 299 วรรคแรก

LA201(LW204)กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์

ข้อ 1. เด่นเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดจำนวน 2 ไร่ โดยเด่นยกที่ดินด้านทิศเหนือจำนวน 1 ไร่ ให้แก่ดวงโดยไม่ได้จดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดให้ ภายหลังจากดวงเข้าครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินด้านทิศเหนือติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว เด่นก็ยกที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 1 ไร่ ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้ให้แก่เปลว แต่ทำสัญญาจดทะเบียนให้เปลวมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดทั้งแปลง เพราะเปลวรับรองว่าจะจดทะเบียนแบ่งโอนให้ดวงในภายหลัง แต่เปลวไม่ดำเนินการจดทะเบียนแบ่งโอนให้ดวงตามที่รับรองไว้กับเด่น แต่กลับนำที่ดินดังกล่าวไปทำสัญญาและจดทะเบียนขายให้กับเพลิง ซึ่งเพลิงรู้ข้อเท็จจริงต่าง ๆ และรู้ด้วยว่าดวงกำลังจะยื่นฟ้องคดีให้เปลวแบ่งโฉนดให้ดวง แต่เพลิงก็ยังรับซื้อที่ดินนั้นทั้งหมด ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ระหว่าง ดวง เปลว และเพลิง ผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 1 ไร่ ด้านทิศเหนือซึ่งเป็นที่พิพาทดีกว่ากัน เพราะเหตุใด


แนวคำตอบ

ป.พ.พ. มาตรา 1299

เด่นยกที่ดินด้านทิศเหนือจำนวน 1 ไร่ให้ดวง แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดทีดินให้ ดวงจึงเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรค 1 แต่นิติกรรมดังกล่าวไม่ได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่นิติกรรมจึงเป็นโมฆะ แต่การที่ดวงเข้าครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินนั้นติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ดวงจึงเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการได้มาโดยทางอื่น นอกจากนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรค 2 แต่ดวงยังไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดเป็นของตน ดวงจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในทางทะเบียน และไม่สามารถยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยมีค่าตอบแทน โดยสุจริต และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว

ต่อมาเด่นยกที่ดินส่วนที่เหลือด้านทิศใต้จำนวน 1 ไร่ให้เปลวโดยทำสัญญาและจดทะเบียนให้เปลวมีชื่อในโฉนดทั้งแปลง เพราะเปลวรับรองว่าจะจดทะเบียนแบ่งโอนให้ดวงภายหลัง แต่เปลวไม่ดำเนินการจดทะเบียนแบ่งโอนให้ดวงตามที่รับรองไว้กับเด่น แต่เปลวกลับทำสัญญาและจดทะเบียนขายที่ดินแปลงทิศเหนือให้เพลิง โดยเพลิงรู้ข้อเท็จจริงต่าง ๆ แม้เพลงจะเป็นบุคคลภายนอกที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยมีค่าตอบแทนก็จริง แต่การได้มานั้นไม่สุจริต และจดทะเบียนสิทธิโดยไม่สุจริต

ดังนั้นดวงจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าเปลว เพราะเปลวได้มาโดยไม่มีค่าตอบแทน ไม่สุจริต และจดทะเบียนสิทธิโดยไม่สุจริต และดวงมีกรรมสิทธิ์ดีกว่าเพลิงตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น



ข้อ 2. นายเอกเป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่ง เมื่อนายเอกตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงนี้ให้ นายโทและนายตรี นายโทและนายตรีได้ขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็นคนละแปลงตามส่วนของตน เมื่อแบ่งแยกแล้วปรากฏว่าแปลงของนายตรีถูกปิดล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยมีที่ดินของนายโท นายดำและนายแดงปิดล้อมอยู่ นายตรีเห็นว่าถ้าตนได้นำรถผ่านบนที่ดินของนายดำ จะเป็นทางที่ใกล้ที่สุดที่จะออกสู่ถนนสาธารณะได้ นายตรีจึงไปยื่นคำร้องต่อศาลขอนำรถผ่านเข้าออกทางที่ดินของนายดำ ดังนี้ นายดำจะต้องยอมให้นายตรีผ่านเข้าออกบนที่ดินของตนหรือไม่

แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 1350

วินิจฉัย กรณีตามปัญหาเป็นเรื่องที่ดินของตรีถูกปิดล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ นายตรีย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อให้เปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินแปลงที่ปิดล้อมอยู่เพื่อออกสู่ทางสาธารณะได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินของตรีเป็นที่ดินแปลงที่เคยรวมอยู่กับที่ดินของโทแล้วแบ่งแยกออกมา ทำให้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ การขอเปิดทางจำเป็นของตรีจึงอยู่ในหลักเกณฑ์ของมาตรา 1350 ไม่ใช่มาตรา 1349

ดังนั้น นายดำย่อมมีสิทธิไม่ยอมให้นายตรีผ่านที่ดินของตนได้เพราะสิทธิที่จะขอทางจำเป็นคือขอผ่านที่ดินของโทเท่านั้น โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน



ข้อ 3. หนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งให้สองเช่าที่ดินปลูกบ้าน สองได้ใช้ทางเดินผ่านที่ดินของสามเพื่อออกไปสู่ถนนสาธารณะ เพราะที่ดินของหนึ่งไม่มีทางเข้าออก โดยสองไม่ได้ขออนุญาตจากสามเลย สองเช่าที่ดินหนึ่งและใช้ทางผ่านเข้าออกบนที่ดินของสามมาได้สิบห้าปี ทางราชการได้ตัดถนนระหว่างจังหวัดผ่านที่ดินแปลงนั้น พอดีกับที่สองได้เลิกสัญญาเช่า ที่ดินแปลงนั้นจึงถูกปล่อยทิ้งร้างมาได้สองปี หนึ่งได้เข้ามาปลูกบ้านอยู่บนที่ดินแปลงนั้น หนึ่งจึงต้องการที่จะใช้ทางผ่านบนที่ดินของสามเข้าออก โดยหนึ่งอ้างว่าที่ดินของสามตกเป็นภาระจำยอมให้ที่ดินของตนผ่านเข้าออกแล้ว แต่สามอ้างว่าหนึ่งหมดสิทธิที่จะใช้ทางผ่านเข้าออกบนที่ดินของตนแล้ว ให้ท่านอธิบายว่า ข้ออ้างระหว่างหนึ่งและสามใครจะรับฟังได้ดีกว่ากัน เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

มาตรา 1387, มาตรา 1401, มาตรา 1382, มาตรา 1400

หนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งให้สองเช่าที่ดินปลูกบ้าน สองได้ใช้ทางเดินผ่านที่ดินของของสามเพื่อออกไปสู่ถนนสาธารณะเพราะที่ดินของหนึ่งไม่มีทางเข้าออก โดยสองไม่ได้ขออนุญาตจากสามเลย สองเช่าที่ดินหนึ่งและใช้ทางผ่านเข้าออกบนที่ดินของสามมาได้สิบห้าปี ที่ดินของหนึ่งได้ภาระจำยอมในการใช้ทางเดินผ่านที่ดินของสามเพราะภาระจำยอมมีขึ้นเพื่อประโยชน์อสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 1387 ดังนั้นใครก็ตามที่อยู่บนที่ดินก็จะก่อให้เกิดภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์ได้ตามมาตรา 1401 และมาตรา 1382 ทางราชการได้ตัดถนนระหว่างจังหวัดผ่านที่ดินแปลงนั้น ภาระจำยอมในการใช้ทางก็หมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ภาระจำยอมนั้นสิ้นไปเป็นการสิ้นไปโดยผลของกฎหมายมาตรา 1400 วรรค 1 และเมื่อเป็นถนนของทางราชการจึงใช้ได้ตลอดไป เมื่อหนึ่งได้เข้ามาปลูกบ้านอยู่บนที่ดินแปลงนั้น หนึ่งจะใช้ทางผ่านบนที่ดินของสามไม่ได้ เพราะภาระจำยอมสิ้นไปโดยผลของกฎหมายแล้ว ข้อที่สามอ้างว่าหนึ่งหมดสิทธิที่จะใช้ทางผ่านเข้าออกบนที่ดินของตนแล้วจึงรับฟังได้ดีกว่าของหนึ่ง



ข้อ 4. ที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของโอ่งมีที่ดินมือเปล่าของอ่างอยู่ติดทางขวามือและมีที่ดินมือเปล่าของเอียดติดอยู่ทางด้านหลัง อ่างได้เข้าไปขุดหน่อไม้ในที่ดินของโอ่งมาขายเป็นประจำเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้ว ส่วนเอียดก็ใช้ที่ดินของโอ่งเป็นทางผ่านเข้าออกที่ดินของตนตลอดมาอยู่เกินกว่าสิบปีเช่นกัน ทั้งเอียดและอ่างได้ใช้ที่ดินของโอ่ง โดยโอ่งไม่รู้ ต่อมาโอ่งได้ห้ามไม่ให้เอียดและอ่างเข้าไปในที่ดินแปลงนั้นของตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะทรัพย์สิน อ่างและเอียดมีสิทธิในที่ดินของโอ่งแปลงนั้นอย่างไรบ้าง เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ

มาตรา 1387

ที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งของโอ่งมีที่ดินมือเปล่าของอ่างอยู่ติดทางขวามือและมีที่ดินมือเปล่าของเอียดติดอยู่ทางด้านหลัง อ่างได้เข้าไปขุดหน่อไม้ในที่ดินของโอ่งมาขาย การเข้าไปขุดหน่อไม้มาขายไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองบนที่ดินของโอ่งเพราะการเข้าไปเก็บหน่อไม้ยังไม่ได้เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ในทรัพย์ถึงขนาดเท่ากับผู้ทรงสิทธิครองครองในที่ดินมือเปล่าที่ยึดถือใช้ที่ดินทำประโยชน์กับทรัพย์ จึงยังไม่เป็นยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนายึดถือเพื่อตน ตามมาตรา 1367 ส่วนเอียดก็ใช้ที่ดินของโอ่งเป็นทางผ่านเข้าออกที่ดินของตนตลอดมาอยู่เกินกว่าสิบปี โดยโอ่งไม่รู้ ที่ดินของเอียดจึงได้ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ผ่านเข้าออกบนที่ดินของโอ่งแล้วตามมาตรา 1401, มาตรา 1382

LA103(LW203)กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

ข้อ 1. (ก) ในกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว ผู้แสดงเจตนาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ตามหลักทั่วไป การแสดงเจตนานั้นมีผลในกฎหมายประการใด
(ข) นายสมบัติซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานครส่งจดหมายโดยทางไปรษณีย์เสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานครให้แก่นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในราคาห้าล้านบาท หลังจากส่งจดหมายไปแล้ว 5 วัน นายสมบัติถูกศาลแพ่งสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ นายอาทิตย์ได้ทราบข่าวว่านายสมบัติถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว แต่อยากได้บ้านหลังนั้น นายอาทิตย์จึงเขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์สนองตอบตกลงซื้อบ้านส่งไปให้นายสมบัติ ณ ที่อยู่ของนายสมบัติ นางสมศรีซึ่งเป็นผู้อนุบาลของนายสมบัติได้รับจดหมายดังกล่าวไว้ ดังนี้ สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายสมบัติกับนายอาทิตย์เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
แนวคำตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง บัญญัติว่า
“การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้น ผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ” (3 คะแนน)
อธิบาย หลักกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นหลักทั่วไปของผลในกฎหมายในกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนา
(1) ตาย
(2) ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือ
(3) ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
กฎหมายบัญญัติไว้เป็นหลักทั่วไปว่าการแสดงเจตนานั้นไม่เสื่อมเสียไป ยังคงมีผลสมบูรณ์ (7 คะแนน)
(ข) หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 360 บัญญัติว่า
“บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสอง นั้น ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าหากว่า......ก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ” (3 คะแนน)
วินิจฉัย กรณีตามอุทาหรณ์ ปรากฏว่าก่อนที่นายอาทิตย์จะทำคำสนองตอบตกลงซื้อบ้านของนายสมบัติ นายอาทิตย์ได้รู้อยู่แล้วว่านายสมบัติถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว กรณีต้องตามข้อยกเว้นใน ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งมิให้นำบทบัญญัติมาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ จึงมีผลให้การแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายสมบัติเป็นอันเสื่อมเสียไป
กรณีดังกล่าวนี้จึงไม่มีคำเสนอของนายสมบัติ มีแต่เพียงคำสนองของนายอาทิตย์ ถึงแม้นางสมศรี ผู้อนุบาลของนายสมบัติได้รับจดหมายคำสนองของนายอาทิตย์ไว้ สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายสมบัติกับ นายอาทิตย์ก็ไม่เกิดขึ้น (12 คะแนน)
ข้อ 2. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 นาย ก. คนไร้ความสามารถได้ให้แหวนเพชรหนัก 1 กะรัตแก่นาย ข. หลังจากนั้นอีก 6 ปี นาย ก. หายจากอาการวิกลจริต ผู้อนุบาลได้ร้องขอและศาลได้สั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้นาย ก. เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว ตาม ป.พ.พ.มาตรา 31 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 นาย ก. จำได้ว่าตนได้ให้แหวนเพชรแก่นาย ข. ประสงค์จะบอกล้างโมฆียกรรมนี้ จึงมาปรึกษาให้ท่านแนะนำนาย ก. ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย
แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 181 (5 คะแนน)
มาตรา 179 วรรค 2 “บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถจะให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมต่อเมื่อได้รู้เห็นซึ่งโมฆียกรรมนั้น ภายหลังที่บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว...” (5 คะแนน)

วินิจฉัย กำหนดการบอกล้างโมฆียกรรม ตามมาตรา 181 นั้นจะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ ซึ่งกำหนดระยะเวลาดังกล่าวนั้น ในกรณีนาย ก.คนไร้ความสามารถคือวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่นาย ก. ได้รู้เห็น (จำได้ว่า) ซึ่งโมฆียกรรมนั้น หลังจากที่ศาลได้สั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้วเมื่อประมาณ 4 ปีที่ผ่านมาตามมาตรา 179 วรรค 2
แต่อย่างไรก็ตาม เวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้นั้นต้องไม่เกินกว่าเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น ซึ่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 เป็นวันที่ครบสิบปีพอดีดังกล่าว
ข้าพเจ้าจะแนะนำให้นาย ก. ต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ถ้าเกินกว่านั้นจะพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำโมฆียกรรมขึ้น

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548 นายเฉลิมได้ซื้อเชื่อเครื่องปรับอากาศจากร้านของนายเกษม จำนวน 3 เครื่อง เป็นเงิน 250,000 บาท โดยตกลงจะนำเงินมาชำระให้ในวันที่ 10 มีนาคม 2548 เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายเฉลิมไม่นำเงินมาชำระ นายเกษมได้ทวงถามตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 1 มีนาคม 2550 ซึ่งเหลือเวลาอีก 9 วันจะครบกำหนดอายุความ 2 ปี นายเกษมได้นำคดีมาฟ้องศาลเรียกเงินค่าซื้อของเชื่อ ต่อมาวันที่ 7 มีนาคม 2550 นายเฉลิมได้ไปขอร้องให้นายเกษมถอนฟ้องและได้ทำหนังสือให้นายเกษมไว้ 1 ฉบับ มีใจความยอมรับว่าเป็นหนี้นายเกษมจริงและจะนำเงินมาชำระให้ในวันที่ 10 เมษายน 2550 นายเกษมจึงไปถอนฟ้องคดีครั้นหนี้ถึงกำหนดนายเฉลิมไม่นำเงินมาชำระให้ตามที่ตกลงกันไว้ นายเกษมจึงได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 30 กันยายน 2551 นายเฉลิมต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว เพราะนายเกษมถอนฟ้องอายุความจึงไม่สะดุดหยุดลง ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายเฉลิมฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ “มาตรา 193/34 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี
(1) ผู้ประกอบการค้า....เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ”
แนวคำตอบ
หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 193/14 บัญญัติว่า “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้...
(2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดี...เพื่อให้ชำระหนี้
ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคแรก บัญญัติว่า “ในกรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงเพราะเหตุตามมาตรา 193/14 (2) หากคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้อง...ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง”

วินิจฉัย ตามอุทาหรณ์ นายเฉลิมได้ซื้อเชื่อเครื่องปรับอากาศจากร้านของนายเกษมเป็นเงินจำนวน 250,000 บาท โดยตกลงจะนำเงินมาชำระให้ในวันที่ 10 มีนาคม 2548 เมื่อหนี้ถึงกำหนด นายเฉลิมไม่นำเงินมาชำระ จนกระทั่งวันที่ 1 มีนาคม 2550 ซึ่งเหลือเวลาอีก 9 วัน จะครบกำหนดอายุความ 2 ปี นายเกษมได้นำคดีมาฟ้องศาลจึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) แต่ปรากฏว่าคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะนายเกษมไปถอนฟ้องคดีให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคแรก อายุความจึงนับต่อไป ในวันที่ 7 มีนาคม 2550 นายเกษมได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่นายเกษม 1 ฉบับจึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 และจะครบ 2 ปีในวันที่ 7 มีนาคม 2552 นายเกษมได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 30 กันยายน 2551 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ

ดังนั้น นายเฉลิมต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว เพราะนายเกษมถอนฟ้องอายุความจึงไม่สะดุดหยุดลง ข้อต่อสู้ของนายเฉลิมจึงฟังไม่ขึ้น

ข้อ 4. นายอู่ทองตกลงขายรถยนต์กระบะคันหนึ่งให้แก่นายพิชัย 800,000 บาท โดยนายพิชัยได้ชำระเงินค่ารถยนต์เป็นเงินสด จำนวน 200,000 บาท ในวันทำสัญญานายอู่ทองได้ส่งมอบรถยนต์กระบะคันดังกล่าวซึ่งตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้แก่นายพิชัยแล้ว แต่เนื่องจากรถยนต์กระบะของนายอู่ทองยังผ่อนชำระกับนายดุสิตไม่หมด นายอู่ทองจึงยังไมได้รับโอนทะเบียนรถยนต์กระบะคันดังกล่าวจากนายดุสิตแต่อย่างใด ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงกำหนดเงื่อนไขให้กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังนายพิชัย จนกว่านายอู่ทองจะผ่อนชำระราคารถยนต์กับนายดุสิตจนหมด และได้รับโอนทะเบียนรถยนต์กระบะเรียบร้อยแล้ว ในระหว่างนั้นปรากฏว่า ได้เกิดเพลิงไหม้ในบริเวณชุมชนใกล้เคียงกับบ้านของนายพิชัย แล้วเพลิงได้ลุกลามมาไหม้บ้านของนายพิชัยเสียหายหมดทั้งหลัง รวมทั้งรถยนต์กระบะที่นายพิชัยได้รับมอบไว้ด้วย จนรถยนต์กระบะคันดังกล่าวไม่สามารถใช้การได้เลย ดังนี้ นายอู่ทองจะมีสิทธิเรียกให้นายพิชัยชำระราคารถยนต์กระบะส่วนที่เหลือให้แก่นายอูทองหรือไม่ เพราะเหตุใด
แนวคำตอบ

หลักกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 371 วรรคแรก
วินิจฉัย ตามอุทาหรณ์ การทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กระบะระหว่างนายอู่ทองและนายพิชัยเป็นการทำสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง เมื่อปรากฏว่ารถยนต์ที่นายพิชัยได้ครอบครองไว้ถูกไฟไหม้เสียหายหมดโดยไฟลุกลามมาจากชุมชนในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านของนายพิชัยด้วยเหตุอันโทษใครไม่ได้ ก่อนที่นายอู่ทองจะผ่อนชำระราคารถยนต์กับนายดุสิตจนหมด และได้รับโอนทะเบียนรถยนต์กระบะเรียบร้อยแล้ว ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ทรัพย์นั้นสูญหรือถูกทำลายลงในระหว่างเงื่อนไขยังไม่สำเร็จ กรณีนี้จะนำบทบัญญัติของมาตรา 370 มาใช้บังคับไม่ได้ การสูญหรือเสียหายนั้นหาตกเป็นพับแก่นายพิชัยเจ้าหนี้ไม่ หากแต่นายอู่ทองลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายต้องเป็นผู้รับผลแห่งภัยพิบัติเอง นายอู่ทองจึงหามีสิทธิเรียกให้นายพิชัยชำระราคาค่ารถยนต์กระบะส่วนที่เหลืออยู่ได้ไม่ ตามมาตรา 371 วรรคแรก อีกทั้งกรณีนี้ไม่จำต้องอ้างมาตรา 372 ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนอื่นด้วย

********

LA204(LW202)กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

ข้อ 1.ให้อธิบายถึงหลักการสำคัญของรูปการปกครองในระบบรัฐสภา ระบบประธานาธิบดี และระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี มาตามที่เข้าใจ


แนวคำตอบ

รูปการปกครองในระบบรัฐสภาเป็นรูปการปกครองที่การจัดตั้งองค์กรในการใช้อำนาจรัฐ มีมาตรการในการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้องค์กรดังกล่าวสามารถมี ปฏิสัมพันธ์และสามารถใช้มาตรการในการล้มล้างซึ่งกันและกัน ดังเช่น การขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติและการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยฝ่ายบริหาร ดังเช่น ระบบการปกครองของประเทศอังกฤษ และระบบการปกครองของไทยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับปีพุทธศักราช 2540

- รูปการปกครองในระบบประธานาธิบดีจะมีการกำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจออกจากกันให้เป็นอิสระมากที่สุด เป็นการแบ่งแยกอำนาจแบบค่อนข้างเด็ดขาด ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต่างก็ไม่มีอำนาจล้มล้างซึ่งกันและกัน ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีอำนาจในการขอเปิดอภิปรายฝ่ายบริหารและทางฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจในการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังเช่น รูปการปกครองของสหรัฐอเมริกา

- ส่วนรูปการปกครองในระบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี เป็นรูปการปกครองที่นำเอาหลักการของระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดีมาใช้ร่วมกัน มีการนำเอามาตรการในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารมาใช้ในส่วนของคณะรัฐมนตรี แต่สภาผู้แทนไม่สามารถเปิดอภิปรายตัวประธานาธิบดีเหมือนกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันประธานาธิบดีในระบบกึ่งรัฐสภา กึ่งประธานาธิบดี จะมีอำนาจในการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังเช่น ตัวอย่างของประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น



ข้อ 2. ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ มีความหมายอย่างไร และมีผลในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างไร ขอให้อธิบาย

แนวคำตอบ

1. ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนตามแนวความคิดของ Rousseau นั้น หมายความว่า ราษฎรแต่ละคนต่างเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย Rousseau กล่าวว่าสมมติว่าในรัฐ ๆ หนึ่งมีประชากรอยู่หนึ่งหมื่นคน ดังนั้นประชากรแต่ละคนต่างเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเท่ากับหนึ่งในหนึ่งหมื่นส่วน และราษฎรแต่ละคนต่างควรได้รับประโยชน์จากความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามส่วนของตนไม่มีใครจะมาพรากไปจากเขาได้

ส่วนผลทางกฎหมาย คือ

1) การเลือกตั้งถือเป็นการใช้สิทธิและการเลือกตั้งต้องเป็นอย่างทั่วถึง (Universal suffrage)

2) ผู้ได้รับเลือกตั้งถือว่าเป็นผู้อยู่ในอาณัฐของผู้เลือกตั้ง

2. ทฤษฎีว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ หมายความถึงแนวคิดของ Seyés (ซีแอส) ที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนทุกคน แต่เมื่อราษฎรมารวมตัวกันเป็นชาติก็เท่ากับว่าได้ยกอำนาจอธิปไตยตามส่วนของตนให้กับสังคม และสังคมที่ว่านี้ก็คือชาตินั่นเอง ชาตินั้นเป็นนิติบุคคลที่มีความต่อเนื่องของสังคมทุกยุค ทุกสมัย ผลของการที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติคือ

1) การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ เพราะชาติอาจมอบหมายให้ราษฎรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเลือกผู้แทนให้แก่ชาติ และการเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องเป็นแบบทั่วถึง

2) ผู้ได้รับเลือกตั้งถือว่าเป็นตัวแทนของชาติไม่ใช่เป็นเพียงตัวแทนของประชากรที่เลือกเขาเท่านั้น



ข้อ 3. ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาพิพากษาคดีของอดีตนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช เกี่ยวกับการจัดรายการโทรทัศน์ “ชิมไปบ่นไป” และ “ยกโขยงหกโมงเช้า” ว่าผิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 จนทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งคำตัดสินคดีดังกล่าว นักกฎหมายมีความเห็นแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้และองค์ประกอบอื่นอีกหลายประการ.... สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าท่านมีที่มาอย่างไร มีความรู้ความสามารถ ความเหมาะสมเชื่อถือได้หรือไม่

ให้นักศึกษาอธิบายว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวนเท่าใด และตุลาการดังกล่าวมีที่มาอย่างไร

แนวคำตอบ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวน 9 ท่าน คือ ประธานศาลรัฐธรรมนูญหนึ่งคน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีกแปดคน มีที่มาดังนี้

1. ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 3 คน

2. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 2 คน

3. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริงและได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหาจำนวน 2 คน

4. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริงและได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหาจำนวน 2 คน



ข้อ 4. ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง หลังจากมีการประกาศผลการเลือกตั้งโดยนายแดงสมาชิกพรรคธรรมไทย และนายสมใจซึ่งเป็นสมาชิกพรรคทุนเสรี ต่างเป็นบุคคลผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทองด้วยกันทั้งสองคน นายสมใจซึ่งได้ซื้อเสียงในการเลือกตั้งได้กลั่นแกล้งนายแดงโดยได้ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการเลือกตั้งว่า นายแดงได้ทุจริตซื้อเสียงในการเลือกตั้ง ทั้งนี้โดยนายสมใจได้นำพยานเท็จคือ นายทองและนายเงินมายืนยันในการได้รับเงินจากนายสมใจด้วย ระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการเลือกตั้ง ต่อมาได้มีการประชุมรัฐสภาโดยมีการถ่ายทอดวิทยุและโทรทัศน์ นายสมใจติดภารกิจราชการต้องเดินทางไปต่างประเทศจึงไม่ได้เข้าร่วมประชุม นายแดงได้อภิปรายและกล่าวในที่ประชุมโดยกล่าวหาว่าที่นายสมใจได้รับการเลือกตั้งนั้นเพราะนายสมใจได้ทุจริตซื้อเสียงแต่กลั่นแกล้งตนโดยไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการเลือกตั้งว่าตนซื้อเสียงในการเลือกตั้ง เมื่อนายสมใจกลับจากต่างประเทศได้ทราบเรื่องเห็นว่ากรณีดังกล่าวนี้ทำให้ตนเสียหายต่อชื่อเสียง จึงประสงค์ที่จะฟ้องนายแดงเป็นคดีอาญาต่อศาล ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่านายแดงสามารถใช้สิทธิในทางศาลในกรณีนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

แนวคำตอบ หลักกฎหมาย รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 130 วรรค 1 และวรรค 2

นายสมใจไม่สามารถฟ้องนายแดงเป็นคดีอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาททำให้ตนเสียหายต่อชื่อเสียงในกรณีนี้ได้