วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

LW101หลักกฎหมายมหาชน (Principle of Public Law)

ข้อ 1. รัฐธรรมนูญคือ กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นกติกาการปกครองของรัฐ กลไกการใช้อำนาจรัฐฝ่ายต่าง ๆ ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ


กติกา หรือกฎเกณฑ์ที่เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศมีทั้งดีและไม่ดี มีทั้งที่เป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ และรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ซึ่งหากกติกาหรือกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการปกครองประเทศเป็นกติกาที่ไม่ดี กำหนดตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจจัดให้มีรัฐธรรมนูญ ก็ควรต้องแก้ไขกติกาหรือกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายนั้น

จึงขอให้นักศึกษาอธิบายหลักเกณฑ์และขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ตามมาตรา 291 มาโดยละเอียดและให้ยกตัวอย่างมาตราที่ควรแก้ไขมา 3 มาตรา

แนวคำตอบ

ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กำหนดหลักการในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการแก้ไขแบบง่ายโดยมีหลักเกณฑ์ขั้นตอนการแก้ไขกำหนดไว้ในมาตรา 291 บัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 291 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้

(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้

(2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

(3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(4) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย

การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตราให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ

(5) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

(6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

(7) เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ตัวอย่างมาตราที่ควรแก้ไข เช่น ม. 309, ม. 237, ม. 122





ข้อ 2. จงอธิบายอย่างละเอียดว่าการปกครองของไทยในทุกระดับกับกฎหมายมหาชนมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

แนวคำตอบ - กฎหมายมหาชนได้แก่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

- กฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติอำนาจในการปกครองประเทศ ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ

- กฎหมายปกครองไม่มีชื่อกฎหมายปกครองโดยตรง แต่อยู่ในชื่ออื่น เช่น พระราชบัญญัติ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชกำหนด หรือประมวลประมวลกฎหมาย

- ลักษณะของกฎหมายปกครองไม่ว่าจะอยู่ในชื่อใดบัญญัติหลักการเดียวกันคือบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองให้แก่หน่วยงานทางปกครองหรือแก่เจ้าหน้าที่ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 หรือพระราชบัญญัติอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณเจ็ดร้อยกว่าฉบับ

- อำนาจหน้าที่ในทางปกครอง เช่น การออกกฎ การออกคำสั่ง หรือการกระทำทางปกครองฯ

- จะเห็นว่ากฎหมายมหาชนมีความสัมพันธ์กับการปกครองในทุกระดับ



ข้อ 3. นักศึกษาสามารถให้เหตุผลได้หรือไม่ว่า...

ก. เหตุใดจึงไม่นำหลักกฎหมายเอกชนมาใช้กับหลักกฎหมายมหาชน

ข. เหตุใดจึงมีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้น

จงอธิบายสาเหตุทั้งสองประการโดยละเอียด

แนวคำตอบ - เหตุที่ไม่นำมาใช้ เพราะกฎหมายเอกชน กับ กฎหมายมหาชน มีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ นักศึกษาระบุลักษณะแห่งความแตกต่างดังกล่าวได้ อาทิ เนื้อหา, รูปแบบ, นิติวิธี, องค์กรที่ใช้อำนาจ, ฐานะของคู่กรณี, ความไม่เสมอภาค เป็นต้น

- เหตุที่มีการจัดตั้งศาลปกครอง นอกจากการที่มีกฎหมายระบุไว้โดยชัดเจนตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.ศ.2540 จนกระทั่งฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2550 นศ.อธิบายที่มาเชิงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของระบบศาลคู่ได้ อาจมีการยกตัวอย่างกรณีประเทศฝรั่งเศสประกอบ และกรณีของไทย จากคณะกรรมการกฤษฎีกา สู่การพัฒนามาเป็นศาลปกครองในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น: