วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความยุติธรรมสองมาตรฐานในสังคมรัฐไทย

ความยุติธรรมสองมาตรฐานในสังคมรัฐไทย


รองศาสตราจารย์ ดร. ภูริชญา วัฒนรุ่ง
ความยุติธรรมเป็น “คุณค่า” (value) อันจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงอยู่ของสังคมมนุษย์ เพราะความเป็นมนุษย์นั้น มีจิตอย่างหนึ่งที่รับรู้ได้ถึงสิ่งที่เป็น “ความยุติธรรม” (Justice) ความยุติธรรมจึงเป็น “คุณธรรม” (morality) ที่หล่อเลี้ยงความสามัคคีและค้ำจุนความสงบสุขร่มเย็นของสังคม

เป็นความจริงที่มนุษย์นั้นมีพฤติกรรมที่ซับซ้อน ดังนั้น การรวมอยู่ด้วยกันเป็นสังคมจึงต้องมีกฎเกณฑ์เป็นแบบแผนกำหนดและจำกัดขอบเขตการแสดงออกของพฤติกรรมดังกล่าว กฎเกณฑ์ที่เป็นแบบแผนความประพฤตินี้ในระดับสังคมได้แก่ “จารีตประเพณี” และ “ความเชื่อ” ที่ยึดถือปฏิบัติต่อๆกันมา แต่ในความสัมพันธ์ระดับ “รัฐกับพลเมือง” แบบแผนดังกล่าวนี้ ก็คือ “กฎหมาย”

ในสังคมรัฐประชาธิปไตยเสรีนิยมปัจจุบัน ถือว่า รัฐมี “รัฐพันธกิจ” ที่ต้องดำเนินการ ๓ ประการด้วยกัน คือ การรักษาความสงบเรียบร้อย , การจัดทำบริการสาธารณะ , และ การอำนวยความยุติธรรม

รัฐพันธกิจทั้ง ๓ ประการนี้เป็นที่ยอมรับว่า ดำเนินการโดย “อำนาจรัฐ” ( puissance publique ) ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายเป็นเอกสิทธิ์เหนือพลเมือง และรัฐสามารถใช้อำนาจฝ่ายเดียวบังคับได้เหนือพลเมือง แต่ก็มิใช่ว่า “รัฐ” จะดำเนินการใช้อำนาจบังคับฝ่ายเดียวต่อพลเมืองตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้ เพราะรัฐเสรีประชาธิปไตยนั้นเป็น “นิติรัฐ” ( Legal State ) ซึ่งหมายถึง การเป็นรัฐที่อยู่ภายใต้ระบบกฎหมาย และองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐจะมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องใด เพียงใด ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

กฎหมายในนิติรัฐดังกล่าวนี้ มิใช่ว่า เมื่อเป็นกฎหมายที่ออกมาโดยรัฐาธิปัตย์แล้วจะเป็นกลายเป็นคำสั่งที่บังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติ หากใครไม่ปฏิบัติตามต้องรับโทษ

คำสอนที่กล่าวว่า กฎหมายเป็นคำสั่งของรัฐาธิปัตย์แบบนี้ ล้าสมัยไปนานมามากแล้ว เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า คำสอนดังกล่าวเป็นคำสอนในยุคสมัยที่นักกฎหมายพยายามจะอธิบายถึงอำนาจของ “รัฐชาติสมัยใหม่” (modern nation-state) ที่รัฐจำเป็นต้องแสดงอำนาจรัฐออกมาผ่านทางกฎหมาย และเป็นแนวคำสอนที่เฟื่องฟูมากในยุคสมัยของ จอห์น อ๊อสติน ( John Austin ) นักนิติศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งนักกฎหมายของไทยช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ไปรับการศึกษาอบรมมาจากอังกฤษ เมื่อกลับมาประเทศไทยจึงถ่ายทอดคำสอนตามที่ได้ศึกษามานั้น

การสอนและอบรมแนวความคิดดังกล่าวไม่ใช่เป็นความผิดพลาด แต่เป็นไปตามยุคสมัย ซึ่งในสมัยนั้นก็สอดคล้องกับสภาพสังคม-รัฐไทย ซึ่งกำลังรวมศูนย์อำนาจปกครองเข้าสู่รัฐบาลที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน

แต่สังคมและรัฐ ก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิต คือ สังคมและรัฐมีวิวัฒนาการของตนเอง เมื่อกาลเวลาแห่งยุคสมัยเปลี่ยนไป ความคิดเรื่อง “สิทธิเสรีภาพของประชาชน” ก็สำคัญมากขึ้น สังคมจึงเรียกร้องให้กฎหมายที่ตราออกมาใช้บังคับประชาชนโดยอำนาจรัฐนั้น ต้องให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในฐานะเป็นปัจเจกบุคคลแต่ละคนด้วย และองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐก็จะต้องใช้อำนาจของตนให้พอสมควรแก่เหตุเพื่อให้กิจการของรัฐสามารถดำเนินต่อไปได้ และในขณะเดียวกันสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลก็ได้รับการคุ้มครองจากอำนาจรัฐซึ่งมีเอกสิทธิ์เหนือพลเมืองนั้นด้วย ในเวลาเดียวกัน

ในปัจจุบัน กฎหมายที่จะใช้บังคับแก่ประชาชนนั้น ยอมรับกันว่าจะต้องมี “ลักษณะของกฎหมายที่ดี”(Good Law) ๕ ประการ คือ

๑.) กฎหมายที่ดีต้องมีลักษณะเป็นการทั่วไป ซึ่งหมายความว่า กฎหมายนั้นต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป มิใช่ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือบังคับแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น

๒.) กฎหมายที่ดีต้องมีความแน่นอนชัดเจน หมายความว่า กฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายปกครองจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองนั้น จะต้องบัญญัติกำหนดไว้อย่างแจ้งชัดว่า ให้อำนาจฝ่ายปกครองออกคำสั่งบังคับให้บุคคลประเภทใดกระทำหรือห้ามกระทำอะไร ในกรณีใดและเพื่อประโยชน์อะไร

๓.) กฎหมายที่ดีต้องไม่มีผลใช้บังคับย้อนหลัง หมายความว่า จะต้องมีการประกาศโฆษณากฎหมายนั้นให้พลเมืองทราบล่วงหน้าก่อนที่จะนำกฎหมายนั้นไปใช้บังคับกับพลเมือง และที่สำคัญจะใช้กฎหมายนั้นบังคับกับการกระทำหรือกับเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นและได้สิ้นสุดลงแล้ว ก่อนวันที่ได้มีการประกาศโฆษณากฎหมายนั้นในราชกิจจานุเบกษาไม่ได้

๔.) กฎหมายต้องไม่ขัดแย้งกับหลักแห่งความได้สัดส่วน (Principle of Proportionality ) ในรัฐประชาธิปไตยเสรีนิยม “หลักแห่งความได้สัดส่วน” เป็นหลักการพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้อำนาจปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง เป็นหลักรัฐธรรมนูญทั่วไป ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็มีค่าบังคับเท่ากับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญทุกประการ

กล่าวหลักการนี้โดยสรุปก็คือ ประการแรก รัฐและองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐจะใช้อำนาจของตนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น และต้องใช้มาตรการเท่าที่จำเป็น อีกทั้งยัจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ส่วนรวมจะได้รับว่าคุ้มค่ากับผลกระทบที่เกิดแก่สิทธิและเสรีภาพของบุคคลในฐานะปัจเจกบุคคลแต่ละคนหรือไม่

องค์กรต่างๆของรัฐทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการจึงต้องเคารพและปฏิบัติตามหลักการนี้ และจะกระทำการใดๆขัดแย้งกับหลักแห่งความได้สัดส่วนนี้มิได้

๕.) กฎหมายที่ดีต้องไม่กระทบต่อเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพ หมายความว่า แม้ฝ่ายนิติบัญญัติจะมีอำนาจตรากฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง หรือให้อำนาจฝ่ายปกครองจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองแต่ละคน เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ก็ตาม แต่ก็หาได้มีอำนาจตัดหรือเพิกถอนสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองไม่

กฎหมายที่มีบทบัญญัติเป็นการเพิกถอนสิทธิหรือเสรีภาพใดๆของพลเมือง รวมทั้งกฎหมายที่กำหนดเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดให้พลเมืองต้องปฏิบัติก่อนที่จะใช้สิทธิเสรีภาพนั้นได้ และเป็นการกำหนดเงื่อนไขถึงขนาดที่แทบจะไม่มีพลเมืองคนใดสามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขนั้น กฎหมายเช่นนั้นย่อมเป็นอันใช้บังคับไม่ได้

และโดยหลักการของระบอบประชาธิปไตย “ที่มาของกฎหมาย” (Source of law ) ก็ต้องมีความชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายด้วย คือ ต้องเป็นกฎหมายที่มาจากการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งประกอบ ไปด้วยผู้แทนราษฎรที่มาจากสิทธิอำนาจของประชาชนผ่านการออกเสียงเลือกตั้ง

ระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก ล้วนปฏิเสธ ไม่ยอมรับอำนาจและไม่ยอมรับกฎหมายที่มีมาจากอำนาจรัฐประหาร

ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ( Principle of Separation of Powers ) การรักษาความสงบเรียบร้อยและการจัดทำบริการสาธารณะเป็นกิจการของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ซึ่งใช้อำนาจนี้ในฐานะเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐฝ่ายปกครอง ส่วน การอำนวยความยุติธรรม เป็นกิจการขององค์กรใช้อำนาจรัฐฝ่ายตุลาการ ซึ่งได้แก่ องค์กรศาลประเภทต่างๆ

องค์กรใช้อำนาจอีกประเภทหนึ่ง คือ องค์กรใช้อำนาจรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นองค์กรทำหน้าที่พิจารณาและตรากฎหมายออกมาใช้บังคับ รวมทั้งกฎหมายที่ให้อำนาจดำเนินการแก่ฝ่ายปกครอง

แต่ก็มิใช่ว่า การแบ่งแยกอำนาจตามทฤษฎีเช่นนี้ จะจำกัดอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายอย่างเคร่งครัดเด็ดขาด เพราะในความเป็นจริงนั้น องค์กรใช้อำนาจรัฐฝ่ายต่างๆ ต่างก็มีกิจกรรมที่เป็นทั้งการบริหารซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง และมีทั้งกิจการที่เป็นการออกกฎ ซึ่งกฎดังกล่าวก็มีผลบังคับอย่างเดียวกันกับกฎหมาย รวมทั้งมีการพิจารณาวินิจฉัยและชี้ขาดปัญหาข้อพิพาทภายในองค์กรซึ่งเป็นการใช้อำนาจกึ่งตุลาการ เช่นเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร สามารถจะออกพระราชกำหนดและพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหาร และมีผลบังคับเช่นเดียวกับกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา ขณะเดียวกัน ในองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ ก็มีการบริหารงานขององค์กรซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง เป็นต้น

ความสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้ ก็คือ องค์กรใช้อำนาจรัฐฝ่ายตุลาการมีบทบาทและหน้าที่เป็นทั้งองค์กรพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดีทั่วไป และมีอำนาจหน้าที่ควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินกิจการของฝ่ายบริหารและการดำเนินการกิจการของฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ไม่ให้การใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเป็นไปตามอำเภอใจ ซึ่งจะริดลอนสิทธิเสรีภาพของพลเมือง

การควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหาร ได้แก่ การควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ซึ่งควบคุมและตรวจสอบโดยองค์กรศาลปกครอง

การควบคุมตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่ ความควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราออกมาใช้บังคับโดยรัฐสภา ซึ่งควบคุมและตรวจสอบโดยองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วน ศาลยุติธรรม นั้น เป็นองค์กรตุลาการ ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดีที่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งทั่วไป หมายความว่า ถ้าองค์กรหรือเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐฝ่ายใดก็ตาม กระทำความผิดที่กฎหมายกำหนดเป็นความผิดและโทษทางอาญาไว้ องค์กรและเจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็อาจจะถูกฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมเพื่อดำเนินคดีอาญาหรือคดีแพ่ง ได้

ในฐานะที่องค์กรใช้อำนาจฝ่ายตุลาการมีบทบาทควบคุมตรวจสอบอำนาจรัฐฝ่ายอื่นดังกล่าวข้างต้น ภายใต้หลักการแบ่งแยกอำนาจซึ่งมุ่งหมายที่การถ่วงดุลการใช้อำนาจระหว่างองค์กรใช้อำนาจรัฐด้วยกัน องค์กรตุลาการจึงต้องตระหนักในขอบเขตอำนาจหน้าที่และบทบาทขององค์กรของตนให้ดี และจะต้องไม่ใช้อำนาจของตนอย่างเกินขอบเขต จนเป็นการก้าวก่าย แทรกแซง หรือล่วงล้ำเข้าไปในเขตอำนาจขององค์กรใช้อำนาจรัฐฝ่ายอื่น มากจนเกินสมควรแก่เหตุไป

เพราะโดยสภาพแล้ว องค์กรตุลาการหรือองค์กรศาลย่อมมีลักษณะเป็นเอกเทศและเป็นอิสระ จากความผูกพันโดยอำนาจภายนอก องค์กรตุลาการหรือองค์กรศาลจึงไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในขณะที่องค์กรใช้อำนาจรัฐฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารนั้นมีที่มาจากประชาชนโดยผ่านระบบการเลือกตั้ง

ตรงนี้เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้นถือว่า อำนาจเป็นของประชาชน

ลักษณะเช่นนี้จึงเห็นได้ว่า ถ้าองค์กรศาลใช้อำนาจของตนอย่างเต็มที่โดยไม่คำนึงถึง “เหตุผลและความจำเป็น” หรือ “นโยบาย” ของฝ่ายบริหารซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นการใช้อำนาจตุลาการที่ไม่สมเหตุสมผล หรือเป็นการใช้อำนาจโดยมุ่งหมายต่อผลอย่างอื่นที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกฎหมาย หรือมุ่งหมายต่อผลทางการเมือง หรือใช้อำนาจโดยที่ประชาชนทั่วไปรู้สึกได้ว่าไม่เป็นธรรม บทบาทเช่นนี้ก็จะกลับกลายเป็นปฏิกิริยาต่อหลักการประชาธิปไตย แทนที่จะธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ภายใต้หลักแบ่งแยกอำนาจนั้น หลักการประชาธิปไตยต้องการให้องค์กรใช้อำนาจรัฐแต่ละฝ่ายใช้อำนาจของตนอย่างมีขอบเขตและมีเหตุผลที่ยอมรับได้ ทั้งนี้ เพื่อถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันระหว่างองค์กรใช้อำนาจรัฐด้วยกัน เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเพื่อประคับประคองสังคมให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างสงบสุข

ในระบอบประชาธิปไตยนั้น มีหลักการสำคัญ คือ อำนาจเป็นของประชาชน การใช้อำนาจของประชาชนเป็นการใช้อำนาจผ่านทางผู้แทนราษฎรในระบบการเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล และฝ่ายนิติบัญญัติ มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน รัฐบาลและรัฐสภาจึงมีความชอบธรรมในทางการเมืองในอันที่จะดำเนินกิจการอันเป็นนโยบายที่ได้รับความเห็นชอบของประชาชนผ่านคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง หมายความว่า ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ก็มีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจของตนดำเนินกิจกรรมต่างๆตามนโยบายที่ได้เสนอไว้ต่อประชาชน

ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรใช้อำนาจในลักษณะนี้ หากองค์กรศาลซึ่งแม้จะมีความเป็นอิสระ แต่ไม่ได้มีที่มาจากเสียงของประชาชน มุ่งแต่จะใช้อำนาจของตนเพื่อขัดขวางหรือลบล้างการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ จะด้วยเหตุผลใด หรือเพื่อจุดประสงค์ใดก็ตาม ภาวะวิกฤติของสังคมก็ย่อมจะบังเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างไม่สมเหตุสมผล ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือแม้กระทั่งไม่มีมาตรฐานทางกฎหมายเลย ก็จะเป็นตัวเร่งภาวะวิกฤติของสังคมนั้นให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

การวินิจฉัยชี้ขาดที่เป็นสองมาตรฐาน ได้แก่ การพิจารณาที่มีลักษณะไม่เท่าเทียมกัน โดยมีอคติ เลือกฝ่ายแบ่งข้าง เลือกพรรคแบ่งพวก และวินิจฉัยให้มีผลที่แตกต่างกันทั้งๆที่มีข้อเท็จจริงเหมือนกัน การกระทำที่เป็นสองมาตรฐานเช่นนี้ ย่อมขัดต่อหลักแห่งความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย

มิใช่แต่องค์กรศาลเท่านั้นที่จะสามารถสร้างสภาวะที่เป็นสองมาตรฐานนี้ได้ องค์กรอื่นๆที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทและมีอำนาจชี้ขาดข้อยุติของประเด็นพิพาท อาทิเช่น องค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่พิเศษเฉพาะกิจ องค์กรเหล่านี้แม้จะไม่ใช่ องค์กรศาลแต่ก็ใช้ “อำนาจกึ่งตุลาการ” (Quasi juridiction) จึงอาจจะสร้างสภาวะสองมาตรฐานได้เช่นเดียวกัน

การกระทำขององค์กรใช้อำนาจตุลาการหรืออำนาจกึ่งตุลาการนั้น เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่กับบุคคลหรือกลุ่ม บุคคลคู่กรณีที่แบ่งเป็นสองฝ่าย และเป็นการกระทำที่ผูกพันโดยตรงอยู่กับความยุติธรรม ดังนั้น ความเป็นสองมาตรฐานที่เกิดขึ้นจากการกระทำในอำนาจหน้าที่ขององค์กรเหล่านี้ จึงสามารถเห็น หรือรับรู้ หรือรู้สึกได้ชัดเจนกว่าการกระทำโดยองค์กรอื่น

ตามปกติ องค์กรศาลนั้นเป็นที่ยอมรับโดยบุคคลทั่วไปในการวินิจฉัย และเป็นที่ยอมรับในคำพิพากษาอยู่แล้ว เพราะในคำพิพากษานั้นเองจะประกอบไปด้วยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเหตุผลแห่งการวินิจฉัย ซึ่งวิญญูชนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ถึงความเป็นเหตุเป็นผลและความสอดคล้องกับความยุติธรรมตามธรรมชาติ ซึ่งจิตสำนึกของมนุษย์สามารถจะรับรู้ได้ถึงความยุติธรรมตามธรรมชาตินี้ ดังจะเห็นได้ว่า คำพิพากษาที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายและเป็นผลของการใช้กฎหมายในฐานะที่กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาความยุติธรรม ย่อมจะเป็นที่ยอมรับได้แม้แต่ในฝ่ายที่ถูกพิพากษาให้แพ้คดี หรือแม้แต่ฝ่ายที่ชนะคดีแต่เพียงบางส่วนบางประเด็นก็ตาม ก็ยังยอมรับและไม่ขัดขืนต่อคำพิพากษานั้น อีกทั้งองค์กรศาลนั้นเองมีคุณลักษณะหลายประการที่เป็นหลักค้ำประกันความเป็นธรรม

แต่ปฏิกิริยาต่อความเป็นสองมาตรฐานที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการกระทำในบางเรื่องและเกิดขึ้นเพราะ ตัวบุคคลผู้ทำหน้าที่ในองค์กรดังกล่าวมีลักษณะที่ฝ่าฝืนและขัดแย้งกับคุณลักษณะที่เป็นหลักประกันความเป็นธรรมขององค์กร และมิได้ใช้กฎหมายในฐานะที่กฎหมายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ในการแสวงหาความยุติธรรม แต่กลับใช้กฎหมายเพื่อผลทางการเมือง หรือ ใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อกำจัดและทำลายกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองอื่นที่กำลังทวีความเข้มแข็งขึ้นมาบดบังอำนาจดั้งเดิมและกระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มและชนชั้นฝ่ายตน

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังเกิดอยู่ในทุกวันนี้ มีสาเหตุลึกๆที่แท้จริงมาจากความขัดแย้งระหว่าง “กลุ่มทุนหัวเมือง” กับ “กลุ่มทุนในกรุงเทพฯ” และมีความคิดเรื่อง “ชนชั้น” เป็นส่วนสนับสนุนความขัดแย้งนี้อยู่ด้วย คือ ความคิดชนชั้นผู้ปกครองหัวเมืองประเทศราชมาก่อน กับความคิดชนชั้นผู้ใต้ปกครองในฐานะหัวเมืองประเทศราชเดิม

การรัฐประหารเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการล้มอำนาจของกลุ่มทุนหัวเมือง และแต่งตั้งคนของฝ่ายตนเข้าไปทำหน้าที่ในองค์กรต่างๆเพื่อใช้อำนาจทางกฎหมาย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวก็เป็นกฎหมายที่มาจากอำนาจรัฐประหาร มากวาดล้างกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยหวังจะให้ฝ่ายตรงข้ามต้องสิ้นทรากไปอย่างถอนรากถอนโคน

แต่อย่างที่กล่าวมาแล้ว ความเป็นประชาธิปไตยในปัจจุบันได้วิวัฒนาการก้าวหน้าไปไกลและกว้างขวางมาก แตกต่างกับสมัยก่อน ประชาชนในปัจจุบันได้รับรู้ถึงสิทธิอำนาจและเสรีภาพทางการเมืองของตนเป็นอย่างดี เทคโนโลยี่การสื่อสารช่วยให้ประชาชนไม่ต้องตกอยู่ในสภาพหูหนวกตาบอดอีกต่อไป และการดำเนินกิจกรรมตามนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลก่อนที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนรู้ว่า ประชาชนไม่ได้เป็นเพียงตัวประกอบของการเมืองแต่ประชาชนนั้นเองเป็นศูนย์กลางของการเมือง และไม่ใช่ว่าประชาชนจะไม่มีความรู้ ไม่มีความรับผิดชอบต่อระบอบการปกครอง เหมือนอย่างที่มีผู้พยายามโหมโฆษณาเพื่อให้เชื่อว่า จะต้องมี “คนดี” มาเป็นผู้นำทางการเมืองเท่านั้น

จริงๆแล้ว การเป็นคนดีนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เป็นคนดีของใคร คือ การเป็นคนดีนั้นทำประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้แก่ฝ่ายไหนต่างหาก

การใช้อำนาจตุลาการที่มีประชาชนจำนวนมากเห็นว่าเป็นสองมาตรฐาน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นการใช้อำนาจตุลาการอย่างเลือกปฏิบัตินั้น เห็นได้ว่า มีสาเหตุมาจากการกระทำที่ขัดแย้งต่อพื้นฐานของตุลาการหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำที่ทำให้ประชาชนทั่วไปสงสัย คลางแคลงใจใน “ความเป็นกลาง” ของตัวบุคคลในองค์กรศาล

โดยหลักการแล้ว องค์กรตุลาการจะต้องดำรงตนเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และ ตุลาการต้องปราศจากอคติ คือต้องไม่เลือกที่รัก ไม่มักที่ชัง ตุลาการจะต้องให้โอกาสแก่คู่กรณีทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ เพียงพอ และเท่าเทียมกัน ตามหลักความเป็นกลางของตุลาการนั้น หากตัวผู้พิพากษามีส่วนได้เสียหรือเพียงแค่บุคคลภายนอกเห็นว่าอาจจะมีส่วนได้เสียในคดีที่ตนจะต้องพิจารณา ผู้นั้นก็จะต้องถอนตัวเองออกมาจากการพิจารณาทันที แต่เท่าที่เกิดขึ้นและที่เห็นได้ในปัจจุบันนี้ มีผู้พิพากษาหลายคนเข้าไปทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญบ้าง เข้าไปร่างกฎหมายบ้าง แล้วก็กลับเข้ามาเป็นผู้พิพากษาใหม่ แล้วก็มานั่งพิจารณาประเด็นข้อพิพาท ในข้อกฎหมายที่ตนเองเข้าไปร่างขึ้นมานั้นเอง เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่า ย่อมจะเอนเอียงเข้าข้างความเห็นเดิมของตนมากกว่าจะเห็นและพิพากษาไปตามความเป็นจริง

ประการต่อมาคือ การทำคำพิพากษา คำพิพากษานั้นเป็นผลสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาและการตรึกตรองอย่างลึกซึ้งโดยใช้เหตุผลทางกฎหมาย ที่สำคัญคือ คำพิพากษานั้นจะต้องสอดคล้องกับความชอบด้วยกฎหมาย เพื่อสร้างความสมเหตุสมผลและสร้างความเคารพต่อกฎหมายตามแนวทางการปกครองโดยกฎหมายตามหลักนิติรัฐ และคำพิพากษาจะต้องสนับสนุนความมั่นคงแน่นอนและความชัดเจนของกฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อถือไว้วางใจได้ต่อระบบกฎหมายนั้นเอง

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาที่จะต้องอธิบายด้วยเหตุผลของกฎหมายในคำพิพากษาให้เป็นที่ยอมรับได้ว่า เหตุใดจึงพิพากษาหรือตัดสินเช่นนั้น

ประเด็นนี้ คำพิพากษาในคดียุบพรรคการเมือง ที่ใช้กฎหมายย้อนหลังไปเป็นผลร้ายแก่บุคคล และไม่อาจจะอธิบายเหตุผลทางกฎหมายได้อย่างสมเหตุสมผล จึงถูกมองว่าเป็นคำพิพากษาที่ไม่ได้มาตรฐาน

สิ่งนี้จึงทำให้ความเชื่อถือไว้วางใจของสังคมต่อองค์กรตุลาการเสื่อมถอยลง ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะผู้พิพากษาต้องมีความเป็นอิสระและเป็นกลาง จึงไม่อาจจะสร้างความนิยมกับประชาชนได้ด้วยวิธีการแบบเดียวกับนักการเมือง แต่เป็นเพราะตัวผู้พิพากษานั้นเองดำรงตนให้เป็นที่เคลือบแคลงน่าสงสัยในความเป็นอิสระและในความเป็นกลางของผู้พิพากษา

สาเหตุของความเป็นสองมาตรฐานอีกประการหนึ่ง ก็คือ การที่ผู้พิพากษาไม่ได้ตระหนักและไม่ได้จำกัดขอบเขตการใช้อำนาจหน้าที่ของตนเอง กล่าวคือ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ในนิติรัฐซึ่งเป็นรัฐ ในระบอบประชาธิปไตยนั้น เรียกร้องในเรื่องหลักการแบ่งแยกอำนาจ เพื่อให้มีการถ่วงดุลระหว่างองค์กร ผู้ใช้อำนาจรัฐฝ่ายต่างๆ ในประเด็นนี้จะเห็นได้ว่า โดยสภาพขององค์กรศาลจะทำหน้าที่ในเชิงรับ คือ ศาลจะริเริ่มการดำเนินคดีโดยตัวเองไม่ได้ แต่จะต้องมีผู้ฟ้องคดีหรือร้องเรียนกล่าวหาขึ้นมาเป็นเรื่องให้พิจารณาเสียก่อน และถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลหรือเป็นเรื่องทางการเมือง องค์กรตุลาการก็จะต้องรักษาท่าทีและระมัดระวังการใช้อำนาจของฝ่ายตนให้มาก

ในระบบกฎหมายของสหรัฐอเมริกานั้น จะมีวิธีการให้องค์กรใช้อำนาจรัฐฝ่ายตุลาการเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดจากกิจกรรมทางการเมืองหรือที่เกิดจากตัวนักการเมืองได้ เรียกว่า Judicialization of Politics ซึ่งวิธีการนี้เป็นการทำให้ปัญหาทางการเมือง หรือปัญหาทางสังคมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาขององค์กรตุลาการ เมื่อเรื่องเหล่านี้เข้ามาอยู่ในกระบวนการทางศาลแล้ว ศาลจึงมีบทบาททางการเมืองโดยผ่านทางคำพิพากษา แต่ไม่ใช่เรื่องที่ผู้พิพากษาเข้าไปเล่นการเมืองเสียเอง และไม่ใช่เรื่องการใช้อำนาจตุลาการเข้าไปจัดการเรื่องทางการเมือง

Judicialization of Politics จะเกิดขึ้นได้ใน ๒ กรณี คือ หนึ่ง สภาพทางการเมืองและกลไกทางการเมืองไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาสังคมการเมืองให้ลุล่วงไปได้ และสังคมเห็นว่าการกระทำของนักการเมืองจะต้องรับผิดมากกว่าความรับผิดทางการเมือง คือ สมควรจะต้องรับโทษทางอาญาหรือทางแพ่งด้วย นอกจากการลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ก็เพราะสังคมนั้นเชื่อมั่นว่า องค์กรตุลาการมีความเป็นอิสระและมีวิธีพิจารณาที่มั่นคงเป็นมาตรฐาน ย่อมจะจัดการกับปัญหาได้ดีกว่าที่จะให้ฝ่ายการเมืองซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกันจัดการกันเอง แต่การใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการในกรณีนี้จะต้องกำหนดขอบเขตอำนาจโดยกฎหมายอย่างชัดเจนว่าจะให้องค์กรตุลาการมีอำนาจในเรื่องใดบ้างและต้องกำหนดกลไกการดำเนินการที่เหมาะสมด้วย

กรณีที่สอง คือ สังคมนั้นจะต้องมีกลุ่มคนที่เคารพและเชื่อมั่นในระบบกฎหมายอย่างมาก และนิยมการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางกฎหมายโดยการฟ้องคดีหรือนำเรื่องที่เป็นปัญหาของสังคมนั้นขึ้นสู่การพิจารณาวินิจฉัยโดยองค์กรศาล ซึ่งส่วนมากเมื่อเข้าสู่การพิจารณาขององค์กรศาลแล้ว สิทธิและเสรีภาพของบุคคลก็มักจะได้รับการคุ้มครองมากยิ่งขึ้นจากอำนาจรัฐที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

บทบาทขององค์กรตุลาการในกรณี Judicialization of Politics นี้ก็ต้องถูกตรวจสอบความถูกต้อง ความเหมาะสมและความมีมาตรฐานได้เช่นเดียวกัน โดยพิจารณาจากเหตุผลแห่งการวินิจฉัยในคำพิพากษานั้นเอง

ในประเด็นที่คล้ายกันนี้ ในกรณีของศาลไทย จากคำพิพากษาฎีกาที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ในอดีตศาลไทยมักจะจำกัดขอบเขตอำนาจของตนในกรณีที่เป็นข้อพิพาทในเรื่องของฝ่ายบริหาร หรือในเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐบาล แต่ภายหลังการรัฐประหารครั้งหลังสุดเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มานี้ จะเห็นได้ว่า องค์กรศาล รวมทั้งองค์กรที่มีการแต่งตั้งผู้พิพากษาเข้าเป็นผู้ใช้อำนาจ จะมุ่งใช้อำนาจตุลาการและวิธีการของตุลาการปราบปรามนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างเต็มที่

ที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นสองมาตรฐานนั้น อาจจะต้องยกตัวอย่างคือ ในคดียุบพรรคการเมืองคดีแรก (คือ คดียุบพรรคไทยรักไทย) นั้น มีปัญหาถกเถียงกันว่า เมื่อคณะรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ยึดอำนาจและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ไปแล้ว กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองต้องสิ้นสภาพไปด้วยหรือไม่ ตอนนั้นก็เถียงกันอยู่สองความเห็น คือ ความเห็นแรกเห็นว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะต้องสิ้นสภาพไปด้วย ความเห็นที่สองเห็นว่า การรัฐประหารเป็นการยึดอำนาจ เปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจรัฐเท่านั้น และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีการตราเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติทั่วไป จะสิ้นผลได้ก็ต้องมีกฎหมายหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารมายกเลิก เมื่อไม่มีกฎหมายหรือคำสั่งมายกเลิก ผลก็คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองยังมีผลเป็นกฎหมายอยู่ต่อไป ผลคือ ตุลาการรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารเห็นด้วยกับความเห็นที่สอง ทั้งนี้ก็เพราะต้องการให้มีอำนาจพิพากษายุบพรรคการเมืองที่เป็นเป้าหมายนั่นเอง

ในคดียุบพรรคการเมืองดังกล่าว ตุลาการรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีสถานะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติทั่วไป เพราะมีกระบวนการตรากฎหมายและกระบวนการแก้ไขกฎหมายเหมือนกัน กล่าวคือ กฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ได้ชื่อว่า ประกอบรัฐธรรมนูญเพราะเป็นรายละเอียดในการดำเนินกระบวนการขององค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นเท่านั้น

ที่เป็นสองมาตรฐาน ก็คือ ต่อมา ในกรณีนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งปลดผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จากเหตุที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วินิจฉัยชี้มูลความผิดว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีความวินัยอย่างร้ายแรง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงอุทธรณ์คำสั่งนายกรัฐมนตรีตามสิทธิอุทธรณ์ในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) วินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว มีมติว่าอุทธรณ์ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติฟังขึ้น การรับฟังพยานของ ป.ป.ช.มีข้อไม่สมบูรณ์จำนวนมาก ซึ่งประเด็นเดียวกันนี้ อัยการฯก็สั่งให้ ป.ป.ช.ไต่สวนพยานเพิ่มเติมเกือบ ๑๐๐ ปาก และเป็นการรับฟังความไม่รอบด้าน ทั้งนายกรัฐมนตรีผู้ออกคำสั่งยังต้องห้ามพิจารณาในเรื่องของตนเองตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองอีกด้วย กล่าวคือ ตอนที่นายกรัฐมนตรียังเป็น ส.ส.อยู่นั้น ได้พร้อมกับพวกพากันไปร้องเรียนกล่าวหาให้ไต่สวนดำเนินการในเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑

ป.ป.ช.ก็เร่งทำการไต่สวนอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ เสร็จแล้วจึงเสนอนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาสั่งลงโทษทางวินัยตำรวจแก่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีนี้นายกรัฐมนตรีจึงเป็นทั้งผู้ร้องเรียนกล่าวหาและเป็นผู้ใช้อำนาจบังคับบัญชาสั่งลงโทษในเวลาเดียวกัน ซึ่งต้องห้ามโดยหลักความเป็นกลาง หลักความมีส่วนได้เสีย และโดยหลักห้ามเจ้าหน้าที่พิจารณาในเรื่องของตนเอง

พอเรื่องเป็นแบบนี้ เลยมีคนออกมาเถียงแทน ป.ป.ช. โดยพยายามอธิบายว่า ก.ตร.มีมติเช่นนั้นไม่ได้ เพราะ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์แห่งกฎหมายสูงกว่าพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ กรณีนี้จึงต้องปฏิบัติไปตามมติของ ป.ป.ช.ที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ทั้งๆที่เห็นชัดๆว่า สำนวนไต่สวนของ ป.ป.ช.เรื่องนี้บกพร่องมีข้อที่อัยการฯเรียกว่า “มีข้อไม่สมบูรณ์” ซึ่งเป็นสาระสำคัญในสำนวน อีกทั้งยังฟังความไม่รอบด้าน ไม่ให้โอกาสแก่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งนายตำรวจอีก ๒ นาย โต้แย้ง ชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐานของตน ซ้ำยังวินิจฉัยฐานความผิดทางวินัยผิดพลาดไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อย่างนี้ยังจะมาเรียกร้องให้ต้องลงโทษไปตามที่ ป.ป.ช.ชี้มู,ความผิดฯ

แต่ในคดีที่จะยุบพรรคการเมืองที่กล่าวข้างต้นนั้น ตุลาการรัฐธรรมนูญ (บางคน) บอกว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีศักดิ์หรือมีสถานะเท่ากับพระราชบัญญัติ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นเพราะไม่อยากให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นสิ้นผลไปตามรัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไปแล้ว เพื่อที่ตุลาการรัฐธรรมนูญจะได้มีอำนาจพิพากษายุบพรรคการเมืองได้ตามที่ต้องการจะทำ

แต่พอมาถึงกรณีที่ ก.ตร.ฮึดสู้กับความไม่เป็นธรรมจากการวินิจฉัยชี้มูลของ ป.ป.ช.และจากคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งคำสั่งดังกล่าวไปเอาข้อเท็จจริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจากการไต่สวนของ ป.ป.ช.นั้นมาเป็นเงื่อนไขในการออกคำสั่ง ก็ผู้พิพากษา (บางคน) อีกนั่นแหละที่กลับออกมาบอกว่า ป.ป.ช.นั้นดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้มีสถานะเท่ากับพระราชบัญญัติ แต่เป็นกฎหมายที่อ้างอิงอำนาจของรัฐธรรมนูญจึงมีศักดิ์หรือมีสถานะสูงกว่าพระราชบัญญัติ คือ กฎหมายของ ป.ป.ช.มีศักดิ์สูงกว่าพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นฐานอำนาจของ ก.ตร. ทั้งนี้ ก็โดยที่หวังจะให้ มติของ ก.ตร. ดังกล่าวนั้นไม่มีผลบังคับ

อย่างนี้เห็นได้ว่า สองมาตรฐานชัดเจน คือ ตีความกฎหมายชี้นำความคิดกลับไปกลับมาเพื่อจะให้บังเกิดผลเป็นไปตามที่ตนเองต้องการเท่านั้น

ความเป็นสองมาตรฐานในกรณีนี้ยังสร้างปัญหาที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก จนกรณีนี้น่าจะเป็นมากกว่าสองมาตรฐาน หรือจะเป็นความไม่มีมาตรฐานอย่างไรเลยก็ยังได้

กล่าวคือ ตอนที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยื่นฟ้อง ป.ป.ช. ต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัย ชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.นั้น ศาลไม่รับฟ้อง โดยบอกว่า ป.ป.ช.ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ และการวินิจฉับชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.ยังไม่กระทบต่อสิทธิหน้าที่ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวโดยสรุปก็คือ ศาลเห็นว่าการกระทำของ ป.ป.ช.เป็นเพียง "ขั้นตอนตระเตรียมการ" จึงยังฟ้องไม่ได้ ต้องรอให้มีคำสั่งกระทบต่อสิทธิจริงๆเสียก่อน ทั้งๆที่กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองนั้น กำหนดให้สิทธิฟ้องคดีปกครองมีขึ้นได้แม้ในกรณีที่ “อาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” คือ ยังไม่ต้องเกิดผลกระทบต่อสิทธิจริงๆขึ้นแล้ว เพียงแต่จะกระทบต่อสิทธิอย่างแน่นอนเพราะไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ กฎหมายก็ให้ฟ้องได้แล้ว และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็กำหนดชัดเจนให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.เป็นสำนวนทางวินัย ซึ่งหมายความว่า นายกรัฐมนตรีอาจจะสั่งลงโทษไปตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมานั้น

เรื่องนี้ทราบว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุด

ต่อมา เมื่อการอุทธรณ์คำสั่งนายกรัฐมนตรีต่อ ก.ตร.รับฟังขึ้น มติของ ก.ตร.ในฐานะเป็นองค์กรควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำ ที่กระทำโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ จึงมีผลผูกพันให้ผู้ออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ต้องเพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย และนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาตินี้

พอถึงตอนนี้ ก็มีคนออกมาบอกว่า ป.ป.ช.ใช้อำนาจไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีศักดิ์แห่งกฎหมายสูงกว่าพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฯ นายกรัฐมนตรีก็พูดกับนักข่าวว่าเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ถ้า ป.ป.ช.ไต่สวนไม่ชอบ ก็ต้องไปฟ้องศาลปกครอง

แล้วอย่างนี้ จะให้ทำอย่างไร..? ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในกรณีตัวอย่างนี้ เห็นได้ว่าเป็นเพราะ คนใช้กฎหมายมีสองมาตรฐานในการตีความและในการใช้กฎหมายเรื่องเดียวกัน โดยพยายามจะตีความและใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดผลตามความต้องการของฝ่ายตนเท่านั้น

ความยุ่งยากซับซ้อนของความยุติธรรมสองมาตรฐานจนเกิดเป็นภาวะวิกฤติทางการเมืองของไทยนั้น มีจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ เกิดการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน และศาลไทยก็ยังคงยอมรับในอำนาจทางพฤตินัยของคณะรัฐประหาร ทั้งๆที่ ระบบสังคมการเมืองของโลกในปัจจุบันได้พัฒนาไปในทางประชาธิปไตย และไม่ยอมรับอำนาจที่มาจากการทำรัฐประหารอีกต่อไปแล้ว ทั้งสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนเป็นที่ยอมรับทั่วไป

การรัฐประหารจึงทำให้เกิดการต่อต้าน ยิ่งเป็นการยึดอำนาจเอาไปให้กลุ่มผลประโยชน์ฝ่ายตรงข้าม ที่มุ่งจะใช้อำนาจนั้นกำจัดกลุ่มการเมืองอีกฝ่ายที่เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ การต่อต้านก็มีแต่จะทวีความเข้มข้นและรุนแรงมากยิ่งขึ้น

การรัฐประหารที่เป็นผลดีต่อประเทศชาติและเป็นที่ยอมรับอย่างยิ่งของประชาชนก็ใช่ว่าจะไม่เคยมีแต่น่าเสียดายที่การรัฐประหารชนิดดีแบบนั้นไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมรัฐไทย รัฐประหารที่เกิดผลดีต่อชาติที่พูดถึงนี้ ก็คือ การรัฐประหารแห่งเดือนบรูแมร์ โดยนายพล โบนาร์ปาร์ต เมื่อปี ค.ศ.๑๗๙๙

เดือนบรูแมร์นั้น หมายถึง เดือนแห่งสายหมอก เป็นการจัดรูปแบบปฏิทินตามแบบของฝ่ายปฏิวัติที่ต้องการให้แตกต่างไปจากปฏิทินในระบอบปกครองเดิม เดือนบรูแมร์จะตรงกับราวๆเดือนพฤศจิกายนในระบบปฏิทินปัจุบัน

หลังการรัฐประหารแห่งเดือนบรูแมร์ครั้งนั้น นโปเลียน โบนาร์ปาร์ต ได้จัดตั้งระบบการปกครองแบบใหม่เรียกว่า ระบบกงสุลลาต์ ประมุขของฝ่ายบริหารประกอบด้วยกงสุล ๓ คน นโปเลียนเป็นกงสุลคนที่ ๑ แม้จะเป็นอำนาจกึ่งๆเผด็จการแต่ก็ยังมีกงสุลอีกสองคนคอยถ่วงดุลอำนาจไว้ และอย่างไรก็ตามระบบดังกล่าว ก็เหมาะสมอย่างยิ่งกับสถานการณ์ในฝรั่งเศสขณะนั้น เพราะ ๑๐ ปีหลังการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส นับตั้งแต่ ปีค.ศ.๑๗๘๙ เป็นต้นมา ฝรั่งเศสไม่เคยมีความสงบสุขเลย การต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่อ้างอำนาจรัฐกับฝ่ายที่อ้างสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และการแย่งชิงอำนาจกันเองของกลุ่มการเมือง ทำให้เกิดการกบฏ การเดินขบวนประท้วง การก่อจลาจล และการรบราฆ่าฟันฝ่ายตรงข้าม จนกระทั่งฝรั่งเศสยุคนั้นกลายเป็น “ยุคแห่งความน่าสพรึงกลัว” เพราะแต่ละคนไม่รู้ว่าจะถูกจับไปตัดหัวเสียเมื่อไร

สมัยนั้น ตัดหัวกันบ่อยมากจนเพชรฆาตตัดหัวคนไม่ทัน เลยมีคนประดิษฐ์คิดค้นเครื่องประหารที่ เรียกตามชื่อผู้ประดิษฐ์ว่า “กิโยติน” ขึ้นมา แต่ตอนท้ายๆ คนประดิษฐ์กิโยติน ก็ถูกเครื่องกิโยตินที่ตัวเองประดิษฐ์ขึ้นมานั้นตัดหัวด้วยเหมือนกัน

เฉพาะที่จัตุรัส place de la concorde ซึ่งมีขนาดกว้างกว่าบริเวณรอบๆอนุสาวรีย์ประชาธิไตยของไทยสักสองเท่า มีคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามถูกจับไปตัดหัวด้วยเครื่องกิโยตินมากกว่า ๑,๐๐๐ คน และพูดกันว่าไม่มีถนนหรือตรอกซอกซอยไหนในกรุงปารีสที่ไม่เคยเปื้อนเลือดจากการปฏิวัติในครั้งนั้น

การรัฐประหารแห่งเดือนบรูแมร์โดยนายพล นโปเลียน โบนาร์ปาร์ต เป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ รุ่งเรืองของฝรั่งเศส จนกระทั่งฝรั่งเศสกลายเป็นจักรวรรดิ แผ่อำนาจไปเกือบทั่วทั้งภาคพื้นทวีปยุโรปจากอำนาจที่ได้มาโดยการทำรัฐประหาร นโปเลียน ได้ใช้อำนาจนั้นฟื้นฟูประเทศ สร้างชาติ จัดระเบียบสังคมและทำนุบำรุงกิจการทุกด้านของรัฐ ทั้งด้านการปฏิรูปกฎหมายและระบบการศาล การปฏิรูประบบภาษีที่เป็นธรรม การจัดระบบการปกครองที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมแสนยานุภาพด้านการทหาร การส่งเสริมศักยภาพด้านการพานิชยและการวิทยาศาตร์อุตสาหกรรม รวมทั้งด้านการคมนาคม ด้านการศึกษา ด้านการศาสนาก็ให้เสรีภาพในความเชื่อความศรัทธาและลดความขัดแย้งระหว่างศาสนาที่แตกต่างกัน นโปเลียนได้ส่งเสริมเสรีภาพของประชาชนและสร้างความสมานฉันท์ภายในชาติโดยการจัดเขตและกลไกการปกครองให้เกิดความสมดุลระหว่างอำนาจของท้องถิ่นกับรัฐบาลที่ปารีส โดยที่ขณะเดียวกันรัฐบาลที่ปารีสยังรวมศูนย์อำนาจทางปกครองได้อยู่ ฯลฯ สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้กลายมาเป็นรากฐานที่มั่นคงของรัฐฝรั่งเศสในปัจจุบัน

พูดถึงฝรั่งเศสแล้ว ก็ยังมีตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะชี้ให้เห็นถึงอนาคตของการใช้อำนาจรัฐที่เกินเลยขอบเขตเพื่อประโยชน์เฉพาะชนชั้นและเฉพาะกลุ่มของตนเอง จนกระทั่งองค์กรใช้อำนาจนั้นต้องสูญสิ้นไปจากการเป็นอำนาจหนึ่งระบบการปกครองของฝรั่งเศส

ตัวอย่างเรื่องนี้เป็นกรณีของศาลปาร์เลอมองต์ ซึ่งเป็นศาลในระบบจารีตดั้งเดิมของฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติใหญ่ ค.ศ.๑๗๘๙ ความเป็นศาลที่ประกอบไปด้วยขุนนางและอภิสิทธิ์ชนและสามารถใช้อำนาจได้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน บทบาทของศาลนี้ก็มีมากขึ้น จนกระทั่งบางรัชสมัย ศาลปาร์เลอมองต์ถึงกับขัดขวางและท้าทายต่ออำนาจของราชสำนักฝรั่งเศส จนฝ่ายราชสำนักต้องตอบโต้ด้วยการจัดตั้งศาลพิเศสของกษัตริย์เพื่ออำนวยความยุติธรรมในบางเรื่องบางคดี

ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๓ ทรงมีนายกรัฐมนตรีที่ทรงอำนาจมาก คือ ริเชอลิเยอ (Richelieu) ในยุคสมัยนั้น กษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะประมุขของฝ่ายบริหาร ด้วยคำแนะนำของริเชอลิเยอจึงมีการประกาศพระบรมราชโองการแซงต์-แชร์แมง ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๖๔๑ ห้ามศาลปาร์เลอมองต์พิจารณาหรือตัดสินที่เป็นการกระทำในการบริหารราชการแผ่นดิน

ต่อมา เมื่อราชสำนักมีนโยบายเห็นควรให้ปฏิรูปสังคมและระบบภาษีเพื่อให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น นโยบายนี้ไปกระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มขุนนางและกลุ่มอภิสิทธิ์ชนอื่นๆ เพราะพวกนี้ไม่ต้องเสียภาษีแต่ได้ภาษีจากพลเมืองตามระบอบเดิม

ในรัชสมัยของหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งทรงพระราชอำนาจมาก ได้มีพระราชกระแสห้ามศาลปาร์เลอมองต์ใช้อำนาจศาลคัดค้านพระบรมราชโองการ ซึ่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขณะนั้น พระบรมราชโองการมีผลเท่ากับเป็นกฎหมาย และห้ามคัดค้านพระบรมราชวินิจฉัยก่อนที่จะผลบังคับ

มาในรัชสมัยของหลุยส์ที่ ๑๖ ราชสำนักทรงเป็นมิตรกับศาลปาร์เลอมองต์ ผลประโยชน์ของชนชั้นขุนนางและอภิสิทธิ์ชนจึงยังดำรงอยู่ต่อไป ท่ามกลางความทุกข์ยากและไม่พอใจประชาชนชนชั้นสามัญชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นชนชั้นที่ค้ำจุนเป็นฐานของเหล่าขุนนางอภิสิทธิ์ชนนั้นอยู่ ประชาชนส่วนใหญ่นั้นเป็นชนชั้นที่ต้องรับแบกภาระของสังคมหนักหนาสาหัสมากที่สุด ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชั้นขุนนางและอภิสิทธิ์ชนที่เอารัดเอาเปรียบ กับ ชนชั้นสามัญชนชาวไร่ชาวนาและคนที่ถูกเรียกว่า “พวกซังกูร์ล๊อต”() ซึ่งหมายถึงพวกคน

ยากจนที่จนจริงๆจนจนไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย จึงไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อประกอบกับปัจจัยด้านอื่นๆที่สุกงอมได้ที่ การปฏิวัติใหญ่ใน ค.ศ.๑๗๘๙ จึงเกิดขึ้น โดยการนำของปัญญาชน ชนชั้นกลาง และชาวไร่ชาวนา

ภายหลังชัยชนะของพวกปฏิวัติ สิ่งแรกที่ฝ่ายปฏิวัติจัดการทันที คือ การลดอำนาจของศาลทุกประเภท และ ห้ามศาลทั้งหลายแทรกแซงเข้ามาพิจารณาตัดสินเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน

ในการประชุมสภานิติบัญญัติในเดือน กรกฎาคม ค.ศ.๑๗๙๐ มีประเด็นเสนอต่อสภาว่า สมควรจะให้องค์กรศาลมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการบริหารหรือคดีที่เป็นเรื่องทางปกครองหรือไม่ ในการนี้ ธูเรต์ (Thouret) อภิปรายว่า “ประการหนึ่งในหลายๆประการของการใช้อำนาจตุลาการโดยมิชอบในฝรั่งเศส ก็คือ ความสับสน ปราศจากความตระหนักในขอบเขตอำนาจขององค์กรตุลาการ องค์กรนี้ใช้อำนาจของตนเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง และขัดแย้ง เป็นปฏิปักษ์ ไม่สอดคล้องกับการใช้อำนาจของฝ่ายอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรนี้ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับอำนาจบริหาร”

ส่วน เดสมอนิเยร์ (Desmeuniers) ผู้ซึ่งเป็นคนที่กระโดดขี้นไปยืนบนโต๊ะในร้านกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงปารีสและร้องตะโกนขึ้นว่า “เอาละ..พี่น้องชาวปารีส บัดนี้ถึงเวลาจับอาวุธขึ้นต่อสู้แล้ว” หลังจากนั้นฝูงชนชาวปารีสซึ่งมีอารมณ์ปฏิวัติเดือดพล่านอยู่เต็มอก ก็พากันจับฉวยทุกสิ่งที่พอจะใช้เป็นอาวุธได้ แล้วรวมกลุ่มกันเดินขบวนตรงไปยังคุกบาสตีลย์ โดยหวังที่จะทลายคุกแห่งนี้แล้วปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมคุมขังเพราะมีความคิดแตกต่างกับฝ่ายที่ครองอำนาจเดิมออกมา และถือว่า คุกบาสตีลย์เป็นสัญญลักษณ์ความเลวร้ายของกลุ่มอำนาจเก่า

ในสภา เดสมอนิเยร์ กล่าวยืนยันว่า “ข้าพเจ้ามองเห็นถึงความเลวร้าย หากว่าองค์กรศาลแทรกแซงเข้ายุ่งเกี่ยวในทุกคดี”

สภานิติบัญญัติฝรั่งเศสตีความหลักการแบ่งแยกอำนาจว่า โดยหลักการนี้ตามแนวความคิดปรัชญาของ บารอง เดอ มงเตสกิเยอ (ontesquieu) ได้แบ่งการอำนาจในการทำหน้าที่ใช้อำนาจรัฐออกเป็น ๓ ฝ่าย คือ อำนาจนิติบัญญัติ , อำนาจบริหารสิ่งที่ขึ้นอยู่กับกฎหมายมหาชน , และ อำนาจบริหารสิ่งที่ขึ้นอยู่กับกฎหมายแพ่ง

และสภาเห็นพ้องต้องกันว่า อำนาจบริหารสิ่งที่ขึ้นอยู่กับกฎหมายแพ่งนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลยุติธรรม แต่อำนาจบริหารสิ่งที่ขึ้นอยู่กับกฎหมายมหาชน ซึ่งได้แก่เรื่องหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการบริหารและการปกครองทั้งหลาย เป็นกิจการที่ฝ่ายปกครองจะต้องดำเนินการเอง เพราะ “การพิจารณาและตัดสินคดีที่เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครอง ก็เป็นการปกครองอย่างหนึ่ง” (Juger l’administration , c’est encore administrer)

จากนั้นมา ศาลปาร์เลอมองต์ก็สูญหายไปจากแวดวงอำนาจของฝรั่งเศส และอำนาจขององค์กรตุลาการฝรั่งเศสก็ถูกแยกออกไปจากกิจการทางปกครองอย่างเด็ดขาด

รัฐบัญญัติลงวันที่ ๑๖-๒๔ สิงหาคม ค.ศ.๑๗๙๐ ซึ่งมีอยู่เพียงมาตราเดียวกำหนดอย่างชัดเจนว่า “หน้าที่ในทางตุลาการถูกแยกออกตลอดไปจากหน้าที่ทางปกครอง”

ต่อมา รัฐกฤษฎีกาลงวันที่ ๕ เดือนฟรุคติดอร์ ค.ศ.๑๗๙๒ ก็ตอกย้ำความไม่มีอำนาจของศาลยุติธรรมลงไปอีกโดยกำหนดว่า “ห้ามมิให้องค์กรศาลมีเขตอำนาจเหนือการกระทำของฝ่ายปกครอง”

ในการนี้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายปกครองได้จัดให้มี “ฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่ตุลาการ” ขึ้นมาในองค์กรฝ่ายปกครองเพื่อทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทที่เกิดจากการกระทำทางปกครอง ในสมัยนโปเลียนโบนาร์ปาร์ต ได้จัดตั้ง “สภาแห่งรัฐฝรั่งเศส” ( Conseil d’Etat ) ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล และเป็นวินิจฉัยคดีปกครองแล้วเสนอให้หัวหน้ารัฐบาลพิจารณาตัดสินใจ แต่ต่อมาได้พัฒนามาเป็นอำนาจตัดสินของสภาแห่งรัฐโดยสมบูรณ์

ปัจจุบันในฝรั่งเศส ความหวั่นกลัวการใช้อำนาจอำนาจตุลาการอย่างเกินเลยขอบเขต และขัดขวางแทรกแซงฝ่ายบริหารยังคงมีอยู่ เห็นได้จากการจัดระบบศาลในฝรั่งเศส เป็น “ระบบศาลคู่” ซึ่งแยกออกเป็น ศาลยุติธรรม กับ ศาลปกครอง ส่วน “สภาแห่งรัฐ” นั้นเป็นองค์กรวินิจฉัยคดีปกครองสูงสุด และถึงแม้สภาแห่งรัฐจะเป็นองค์กรของฝ่ายบริหารแต่ก็มีการจัดองค์กรที่เป็นอิสระและมีวิธีพิจารณาที่เป็นมาตรฐานเหมือนกับองค์กรศาลทั่วไป

การวินิจฉัยของสภาแห่งรัฐ ล้วนมีประเด็นข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นธรรมในความสมดุล ระหว่างประสิทธิภาพของการบริหารราชการกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน คำวินิจฉัยจึงต้องมีความเป็นเหตุเป็นผล มีความแยบยลและสอดคล้องกับทั้งบทบัญญัติของกฎหมายและบริบทของสังคม ถึงแม้ว่าบางครั้งคำวินิจฉัยจะค่อนมาทางประสิทธิภาพของอำนาจรัฐ และบางครั้งก็ค่อนไปทางการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล แต่ด้วยคำวินิจฉัยที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลของกฎหมาย และการยึดถือกฎหมายเป็นหลักเพื่อใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือมุ่งแสวงหาความเป็นธรรม คำพิพากษาของสภาแห่งรัฐฝรั่งเศสจึงเป็นที่ยอมรับ และเป็นแบบอย่างของศาลปกครองทั่วโลก

ในปัจจุบัน ยุคโลกาภิวัฒน์เป็นยุคแห่งประชาธิปไตย การรัฐประหารยึดอำนาจรัฐด้วยกำลังทหาร ซึ่งล้วนเป็นลูกหลานของประชาชนชาวไร่ชาวนา และด้วยกำลังอาวุธที่ซื้อมาด้วยเงินภาษีของประชาชน ไม่ได้รับการยอมรับโดยนานาอารยประเทศอีกต่อไปแล้ว ถึงแม้จะพยายามอ้างว่าการรัฐประหารนั้นเหมาะสมกับประชาธิปไตยที่มีลักษณะเฉพาะของสังคมเฉพาะแห่งก็ตาม

กรณีของฝรั่งเศสนี้จึงพอจะทำให้เห็นได้ว่า อำนาจตุลาการนั้น แม้จะมีอำนาจมากประหนึ่งจะท่วมท้นล้นฟ้า เพราะเป็นอำนาจที่สามารถชี้เป็นชี้ตายแก่ฝ่ายต่างๆได้ แต่ว่า อำนาจนี้เป็นอำนาจเพื่อการผดุงความยุติธรรม ไม่ใช่อำนาจที่จะนำมาเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดในทางการเมือง

ถ้าการใช้อำนาจนี้เกินเลยขอบเขตอำนาจไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และผู้ใช้อำนาจนี้ไม่ได้ตระหนักถึงความเหมาะสมสมดุลในการดำรงอยู่ของชีวิตทางการเมืองรวมทั้งดุลอำนาจของฝ่ายอื่นๆในสังคมรัฐ หรือมุ่งแต่จะใช้อำนาจนี้โดยไม่ใช้เหตุผลของกฎหมายหรือไม่สมเหตุผลเพื่อให้เป็นเครื่องมือกำจัดปฏิปักษ์ทางการเมือง ในท้ายที่สุด เมื่อถึงเวลาและสถานการณ์วิกฤติถึงขั้น การภิวัฒน์โดยอำนาจตุลาการ ก็อาจจะกลายเป็น “ความพิบัติ”ของอำนาจนี้ได้เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส.

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ